โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 149, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 รวมสามกระทง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยกระทงละ 5 ปี รวมสามกระทง จำคุก 15 ปี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 รวม 18 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี แต่ความผิดของจำเลยกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงลงโทษจำคุกจำเลย 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาและรับฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาที่ว่า การที่จำเลยเรียกรับเงินค่าตอบแทนในการอนุญาตและอนุมัติการต่อสัญญาพนักงานจ้างปี 2554 จากพนักงานจ้างตามภารกิจและพนักงานจ้างทั่วไปของเทศบาลตำบลบ้านด่านเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ไว้พิจารณา ส่วนฎีกาในปัญหาอื่นไม่อนุญาตให้ฎีกา มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า การเรียกรับเงินค่าตอบแทนของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันนั้น ชอบหรือไม่ โดยจำเลยอ้างในฎีกาทำนองว่า ในการเรียกเงินตามที่โจทก์ฟ้อง โดยเรียกจากผู้เสียหาย 16 คน ในครั้งเดียวและสถานที่เดียวกันพร้อมกัน การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียว เป็นความผิดกรรมเดียว ไม่ใช่หลายกรรม เห็นว่า พนักงานที่จำเลยเรียกรับเงินค่าตอบแทนในการอนุญาตและอนุมัติการต่อสัญญานั้นมี 2 กลุ่ม กล่าวคือ พนักงานจ้างทั่วไปและพนักงานจ้างตามภารกิจ พนักงานในแต่ละกลุ่มต่างก็มีสัญญาจ้างเป็นการเฉพาะราย เมื่อจำเลยเรียกรับเงินค่าตอบแทนในการต่อสัญญาจากพนักงานแต่ละคน กรณีก็เป็นการกระทำความผิดแยกกันเป็นรายบุคคลตามเจตนาของจำเลยซึ่งแยกต่างหากจากกันได้ การที่จำเลยเรียกพนักงานเข้าพบเป็นกลุ่มและเรียกเงินค่าตอบแทนในครั้งเดียวกันก็เป็นลักษณะการดำเนินการของจำเลยที่ต้องการให้เกิดความสะดวกในเรื่องของการเรียกรับเงินเท่านั้น ทั้งการได้รับเงินจากพนักงานแต่ละคนก็เป็นการได้รับในภายหลัง พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระกัน เป็นความผิดหลายกรรม หาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวตามที่จำเลยอ้างในฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน