คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 6, 7, 11, 69, 73, 74 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 92, 93, 151 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92 และริบไม้ประดู่และรถบรรทุกหกล้อของกลาง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง ริบไม้ประดู่และรถบรรทุกหกล้อของกลาง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่ยังคงให้ริบของกลาง คดีถึงที่สุดแล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้คืนรถบรรทุกหกล้อของกลางให้แก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นพิพากษาริบรถบรรทุกหกล้อของกลาง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้คู่ความฟังทางระบบสื่อสารทางไกลผ่านจอภาพ โจทก์ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา 3 ครั้ง ศาลชั้นต้นอนุญาตถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิฎีกาภายในเวลาที่ขยายไว้และไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นฎีกา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถบรรทุกหกล้อของกลางเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นและยกอุทธรณ์ของผู้ร้องมานั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า กำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอคืนของกลางตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 นั้น เป็นกำหนดเวลาในการใช้สิทธิในการดำเนินคดี มิใช่ระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความตามที่กำหนดไว้เพื่อให้ดำเนิน หรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลางเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องซึ่งต่างกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่เห็นว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของกลางที่แท้จริง แต่ก็หามีผลทำให้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยไว้ดังกล่าวกลายเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบไม่ เพราะมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นทำคำสั่งหรือคำพิพากษาโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาความ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นและยกอุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น และเพื่อไม่ให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรพิจารณาพิพากษาคดีนี้ไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ก่อน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางหรือไม่ เห็นว่า การร้องขอคืนของกลางตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 นั้น เจ้าของแท้จริงซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดย่อมมีสิทธิร้องขอคืนของกลางต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งคำว่า "วันคำพิพากษาถึงที่สุด" นี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้นถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง..." ซึ่งก็คือเมื่อครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 และมาตรา 216 ในกรณีที่คู่ความยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฎีกาแล้วมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามที่ได้ขอขยายระยะเวลาไว้ วันคำพิพากษาถึงที่สุดย่อมต้องกลับไปใช้ระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดโดยกฎหมายคือเมื่อครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟัง คดีนี้เมื่อมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 โจทก์และจำเลยทั้งสองย่อมใช้สิทธิฎีกาได้ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2564 ซึ่งจำเลยทั้งสองมิได้ขอขยายระยะเวลาฎีกาและมิได้ใช้สิทธิฎีกา ส่วนโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาและศาลชั้นต้นอนุญาตถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 แต่โจทก์มิได้ฎีกา คำพิพากษาย่อมถึงที่สุดในวันที่ 15 มีนาคม 2564 อันเป็นวันครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้คู่ความฟัง สิทธิของผู้ร้องที่จะขอคืนของกลางต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด จึงต้องนับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2564 มิใช่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอคืนของกลาง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 จึงเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น