โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 2มีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการในตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบและบริหารงานในกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าการประเมินภาษีป้ายโฆษณาที่ใช้ข้อความว่า วิทยุ โทรทัศน์โตชิบา ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ประเภท 2 มีความกว้าง 1,275 เซนติเมตรคูณ 3,000 เซนติเมตร เป็นเงินภาษีป้ายปีละ 76,500 บาท แต่โจทก์ได้ชำระปีละ 72,000 บาท ขาดชำระปีละ 4,500 บาท ต้องเสียเงินเพิ่มอีก 450 บาทรวมภาษีที่ขาดชำระกับเงินเพิ่มที่ต้องชำระปีละ 4,950 บาท เป็นระยะเวลา5 ปี เป็นเงิน 24,750 บาท โจทก์เห็นว่า การเสียภาษีป้ายของโจทก์ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การประเมินของจำเลยที่ 3 ไม่ชอบจึงได้อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วให้ยกอุทธรณ์โจทก์ โจทก์เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 นั้น ได้กำหนดวิธีการคำนวณไว้ 2 แบบ คือ แบบป้ายมีขอบเขตกำหนดได้ กับแบบป้ายไม่มีขอบเขตกำหนดได้ จำเลยชอบที่จะคำนวณตามแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น แต่จำเลยกลับใช้วิธีคำนวณขนาดความกว้างยาวของป้ายทั้งสองแบบรวมกัน แล้วประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มขึ้น จึงขอให้ศาลพิพากษาให้ยกเลิกคำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ฉบับที่ 818/2515ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2515 และยกเลิกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 3 สิงหาคม 2516 และขอให้ศาลพิพากษาว่าป้ายโฆษณาที่โจทก์ติดตั้งตามคำฟ้องมีเนื้อที่ที่จะต้องคำนวณเสียภาษีป้ายมีความกว้าง 1,205เซนติเมตร คูณด้วยความยาว 2,650 เซนติเมตร
จำเลยทั้งสามให้การว่า ตามแบบแปลนป้ายโฆษณาที่โจทก์ยื่นขออนุญาตมีขนาดความกว้าง 1,275 เซนติเมตร ความยาว 3,000 เซนติเมตร แต่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีป้ายว่ามีขนาดกว้าง 1,200 เซนติเมตร ยาว 3,000เซนติเมตร ซึ่งไม่ถูกต้องพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินค่าภาษีป้ายไปตามรายการที่โจทก์ยื่นมา เป็นเหตุให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีป้ายลดน้อยลง พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแจ้งประเมินย้อนหลังตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ได้
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความแถลงรับกันว่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1ถึง 4 มีข้อความถูกต้องแล้ว คู่ความไม่ติดใจสืบพยานบุคคล ขอให้ศาลวินิจฉัยไปตามคำฟ้องคำให้การและคำแถลงรับของคู่ความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัติภาษีป้ายพ.ศ. 2510 ได้กำหนดวิธีการคำนวณพื้นที่ของป้ายไว้ 2 แบบ คือ แบบ ก. เป็นป้ายมีกำหนดขอบเขตได้ และแบบ ข. เป็นป้ายไม่มีขอบเขตกำหนดได้ ตามข้อ 6ของบัญชีอัตราภาษีดังกล่าวกำหนดให้คิดคำนวณตามแบบ ก. หรือ แบบ ข.แบบใดแบบหนึ่ง แต่เพียงแบบเดียว ที่จำเลยคำนวณเพื่อให้โจทก์เสียภาษีป้ายโดยถือส่วนที่มีขอบคำนวณตามแบบ ก. ส่วนที่เลยขอบออกไปคำนวณตามแบบ ข. แล้วนำมารวมกันเพื่อคำนวณพื้นที่เสียภาษี ย่อมไม่ถูกต้อง เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายตามแบบที่ไม่มีขอบเขตคือตามแบบ ข. แล้ว จะมีขนาดกว้าง1,205 เซนติเมตร ยาว 2,650 เซนติเมตร จึงพิพากษาให้ยกเลิกคำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ฉบับที่ 818/2515 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2515 และยกเลิกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 3 สิงหาคม2516 เสีย และพิพากษาว่าป้ายโฆษณาของโจทก์มีพื้นที่ที่จะต้องคำนวณเสียภาษีกว้าง 1,205 เซนติเมตร คูณด้วยความยาว 2,650 เซนติเมตร
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ปัญหาเรื่องป้ายของโจทก์จะต้องคำนวณตามแบบ ข.หรือไม่ ยุติแล้ว เพราะโจทก์ได้ยินยอมรับการแจ้งประเมินภาษีครั้งแรกของเจ้าพนักงานว่าเป็นการถูกต้อง โจทก์ไม่มีสิทธิยกประเด็นข้อนี้มาให้ศาลวินิจฉัยอีก พิพากษาแก้ เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำขอที่ให้ศาลพิพากษาว่าป้ายของโจทก์มีเนื้อที่ที่จะต้องคิดคำนวณเสียภาษีป้ายกว้าง 1,205 เซนติเมตร คูณด้วยความยาว 2,650 เซนติเมตร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายว่าป้ายของโจทก์มีขอบเขตกำหนดไว้กว้าง1,200 เซนติเมตร ยาว 3,000 เซนติเมตร พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินภาษีป้ายตามรายการที่โจทก์ยื่น ให้โจทก์เสีภาษีป้ายปีละ 72,000 บาท โจทก์ได้เสียภาษีป้ายตามอัตราที่เจ้าพนักงานประเมินแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ถึง พ.ศ. 2515ต่อมาได้มีการตรวจสอบ ปรากฏว่าส่วนบนของป้ายมีอักษร ที ในภาษาอังกฤษยื่นเลยขอบเขตของป้ายไป 75 เซนติเมตร จำเลยที่ 3 จึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าป้ายของโจทก์มีความกว้าง 1,275 เซนติเมตร เมื่อคำนวณเนื้อที่ป้ายตามความกว้าง 1,275 เซนติเมตรแล้ว โจทก์จะต้องเสียภาษีป้ายปีละ 76,500บาท โจทก์เสียไว้ปีละ 72,000 บาท โจทก์เสียน้อยกว่าความจริงปีละ 4,500บาท ต้องเสียภาษีเพิ่มอีกร้อยละ 10 เป็นเงิน 450 บาท รวมเป็นปีละ 4,950 บาทรวมยอดห้าปี เป็นเงิน 24,750 บาท ให้โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระภายใน 15 วัน โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรีจำเลยที่ 2ผู้รักษาการในตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าการประเมินภาษีป้ายย้อนหลังของเจ้าหน้าที่ถูกต้องแล้ว
ศาลฎีกาเห็นว่า ป้ายรายพิพาทเป็นป้ายที่อาจมีการคำนวณได้เป็นสองแบบคือคำนวณตามแบบ ก. หรือ แบบ ข. ของบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ถ้าคำนวณตามแบบ ก. คือถือว่าป้ายมีขอบเขตเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 1,200 เซนติเมตร ยาว 3,000 เซนติเมตร แม้ขอบเขตของป้ายด้านบนตรงกลางนั้นมีตัวอักษร ที ในภาษาอังกฤษล้ำออกจากขอบเขต75 เซนติเมตรก็ตาม จะถือว่าป้ายรายพิพาทกว้าง 1,275 เซนติเมตรไม่ได้ เพราะด้านบนของตัวอักษรทีในภาษาอังกฤษนั้นไม่ใช่ขอบเขตของป้ายตามแบบ ก. ของบัญชีอัตราภาษีป้ายดังกล่าว ถ้าคำนวณตามแบบ ข. คือถือเอาตัวอักษรภาพหรือเครื่องหมายเป็นเกณฑ์ ป้ายจะมีความกว้าง 1,205 เซนติเมตร และยาว 2,650 เซนติเมตร จะวัดขอบเขตของป้ายเข้าไว้ในเนื้อที่ป้ายด้วยไม่ได้ เพราะขอบเขตของป้ายมิใช่ตัวอักษร ภาพหรือเครื่องหมาย
การคำนวณเนื้อที่ป้ายโดยรวมทั้งแบบ ก และแบบ ข. เข้าด้วยกัน ดังที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินนั้น จริงอยู่ ที่บัญชีอัตราภาษีป้ายดังกล่าวไม่ได้ห้ามการคำนวณเนื้อที่ป้ายโดยวิธีคำนวณแบบ ก. และแบบ ข. รวมกันโดยตรงก็ดีพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร หากจะต้องตีความเพราะตัวบทกฎหมายไม่แจ้งชัดเช่นนี้ ก็ต้องตีความโดยเคร่งครัดในทางที่ไม่เป็นโทษแก่ราษฎรผู้จะต้องเสียภาษีอากร เมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในพระราชบัญญัตินี้แล้ว อนุมานได้ว่าเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ จักต้องประเมินภาษีป้ายโดยเลือกคำนวณเนื้อที่ป้ายเฉพาะแบบใดแบบหนึ่งในสองแบบนี้ เมื่อปรากฏว่าเลือกคำนวณตามแบบ ก. อยู่แล้ว ก็ต้องคำนวณตามแบบนั้น คำสั่งแจ้งประเมินภาษีครั้งหลังและคำวินิจฉัยที่ให้เสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว
พิพากษายืน