ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้มีคำสั่งให้รถยนต์ทั้ง 7 รายการ พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งคืนรถยนต์รายการที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 หากไม่สามารถคืนได้ขอให้คืนเงินจำนวน 1,283,163 บาท แก่ผู้คัดค้านที่ 1
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และคืนรถยนต์รายการที่ 2 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 หากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินขายทอดตลาดรถยนต์ตามรายการดังกล่าว ขอให้คืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์แก่ผู้คัดค้านที่ 2
ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านขอให้คืนรถยนต์รายการที่ 6 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3
ผู้คัดค้านที่ 4 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและเพิกถอนหมายยึดอายัดทรัพย์สินรายการที่ 6 ชั่วคราว
ผู้คัดค้านที่ 5 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินรายการที่ 1 เงินสดที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์นั่งสามตอน ยี่ห้อเชฟโรเลต รุ่นแคปติวา สีดำ หมายเลขทะเบียน ฌต 6565 กรุงเทพมหานคร จำนวน 213,674.17 บาท รายการที่ 2 เงินสดที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์เก๋งสองตอน ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นแอคคอร์ด สีขาว หมายเลขทะเบียน กฉ 9559 สุราษฎร์ธานี จำนวน 800,000 บาท รายการที่ 3 เงินสดที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์นั่งสามตอน ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ สีขาว หมายเลขทะเบียน 2 กค 6435 กรุงเทพมหานคร จำนวน 735,000 บาท รายการที่ 4 เงินสดที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์นั่งสองตอนท้ายบรรทุก ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ สีขาว หมายเลขทะเบียน ญพ 6078 กรุงเทพมหานคร จำนวน 114,219.73 บาท รายการที่ 5 เงินสดที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์กระบะบรรทุก ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไฮลักซ์ สีเทา หมายเลขทะเบียน ถณ 1622 กรุงเทพมหานคร จำนวน 235,000 บาท รายการที่ 6 รถยนต์นั่งสองตอนท้ายบรรทุก ยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นไทรทัน สีดำ หมายเลขทะเบียน 1 กท 6063 กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 คัน ราคาประเมิน 350,000 บาท และรายการที่ 7 เงินสดที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์กระบะบรรทุก ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไฮลักซ์ สีดำ หมายเลขทะเบียน 1 กฐ 7076 กรุงเทพมหานคร จำนวน 500,000 บาท ราคาประเมินทั้งหมด 2,947,893.90 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้น ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2558 เจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช จับกุมนายผดุงศักดิ์ และนายสุทธิพงศ์ ในข้อหาร่วมกันนำหรือพาบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรหรือกระทำการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักรและข้อหาร่วมกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ การสืบสวนพบว่า มีเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และทำธุรกรรมในกลุ่มเครือข่ายเป็นจำนวนมาก กับมีการจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มเติม ต่อมาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตรวจสอบทรัพย์สินของนายผดุงศักดิ์ กับพวกแล้ว เชื่อได้ว่าทรัพย์สินรายการที่ 1 รถยนต์นั่งสามตอน ยี่ห้อเชฟโรเลต รุ่นแคปติวา สีดำ มีผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ นางอรปภา เป็นผู้ครอบครอง รายการที่ 2 รถยนต์เก๋งสองตอน ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นแอคคอร์ด สีขาว มีผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ นางสาวขวัญฤทัย เป็นผู้ครอบครอง รายการที่ 3 รถยนต์นั่งสามตอน ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ สีขาว มีผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ นายหาด เป็นผู้ครอบครอง รายการที่ 4 รถยนต์นั่งสองตอนท้ายบรรทุก ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ สีขาว มีผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ นายหาด เป็นผู้ครอบครอง รายการที่ 5 รถยนต์กระบะบรรทุก ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไฮลักซ์ สีเทา มีนายหาด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ รายการที่ 6 รถยนต์นั่งสองตอนท้ายบรรทุก ยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นไทรทัน สีดำ มีผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้ครอบครอง และรายการที่ 7 รถยนต์กระบะบรรทุก ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไฮลักซ์ สีดำ มีผู้คัดค้านที่ 5 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ จึงมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ส่งเรื่องให้ผู้ร้องพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ต่อมาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินขายทอดตลาดรถยนต์รายการที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 โดยรถยนต์รายการที่ 2 ขายทอดตลาดได้เงิน 800,000 บาท และรายการที่ 3 ขายทอดตลาดได้เงิน 735,000 บาท แต่ยังมิได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นายหาดและนางสาวขวัญฤทัยเป็นเครือข่ายผู้กระทำความผิดในข้อหาร่วมกันนำหรือพาบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรหรือกระทำการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักร และข้อหาร่วมกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์อันเป็นการกระทำความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (2) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าของที่แท้จริงของรถยนต์รายการที่ 3 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 ผู้คัดค้านที่ 1 ให้นายหาดเช่าซื้อรถยนต์รายการที่ 3 เป็นราคาเช่าซื้อ 1,072,344 บาท นายหาดชำระเงินดาวน์เป็นเงิน 322,842 บาท ส่วนที่เหลือตกลงผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 12,766 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 5 พฤษภาคม 2556 และทุกวันที่ 5 ของเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จ นายหาดชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้คัดค้านที่ 1 รวม 24 งวด เป็นเงิน 306,384 บาท คงค้างชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 25 ถึงงวดที่ 84 เป็นเงิน 765,960 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของที่แท้จริงของรถยนต์รายการที่ 2 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้คัดค้านที่ 2 ให้นางสาวขวัญฤทัยเช่าซื้อรถยนต์รายการที่ 2 เป็นราคาเช่าซื้อ 893,808 บาท นางสาวขวัญฤทัยชำระเงินดาวน์เป็นเงิน 600,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 18,621 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 มีนาคม 2557 และทุกวันที่ 25 ของเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จ นางสาวขวัญฤทัยชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้คัดค้านที่ 2 รวม 15 งวด เป็นเงิน 279,315 บาท คงค้างชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 16 เป็นต้นไป เป็นเงิน 614,493 บาท คดีสำหรับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ที่เกี่ยวกับรถยนต์รายการที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 7 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ว่า เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์รายการที่ 3 กับรายการที่ 2 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 บัญญัติว่า ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งตามมาตรา 51 โดยแสดงให้ศาลเห็นว่า (1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนี้ ผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 จึงมีภาระการพิสูจน์ว่ารถยนต์รายการที่ 3 กับรายการที่ 2 ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามคำนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 มีนางสาวภรณ์นภัส ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 มีนางสาวดารัฎ มาเบิกความประกอบรายการจดทะเบียนและสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งได้ความตามข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติข้างต้นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์รายการที่ 3 กับรายการที่ 2 และให้นายหาดกับนางสาวขวัญฤทัยเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าว เมื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 สัญญาเช่าซื้อหมายถึงสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ดังนี้ การที่นายหาดและนางสาวขวัญฤทัยยังชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทจึงยังคงเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์เป็นปกติธุระในลักษณะเป็นการให้สินเชื่อรูปแบบหนึ่ง ประกอบกับผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 นำสืบแสดงให้ศาลเห็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว ถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า รถยนต์รายการที่ 3 กับรายการที่ 2 ที่ผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ซื้อมาเป็นเจ้าของเพื่อให้เช่าซื้อมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม (1) ของคำนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 แล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปจึงมีว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 มีสิทธิได้รับเงินจากการขายทอดตลาดรถยนต์รายการที่ 3 กับรายการที่ 2 เป็นจำนวนเท่าใด เห็นว่า เมื่อนายหาดและนางสาวขวัญฤทัยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทเป็นเครือข่ายผู้กระทำความผิดของนายผดุงศักดิ์และนายสุทธิพงศ์ เงินที่นายหาดและนางสาวขวัญฤทัยชำระเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้อจึงเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวที่มีรถยนต์พิพาทเป็นวัตถุแห่งสัญญาจึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรวมอยู่ด้วยซึ่งต้องตกเป็นของแผ่นดิน สำหรับรถยนต์รายการที่ 3 ตามสัญญาเช่าซื้อระบุว่า รถยนต์มีราคาเงินสด 1,111,214.95 บาท หักเงินดาวน์แล้ว 301,721.50 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 ใช้เงินลงทุนให้นายหาดเช่าซื้อรถยนต์ 809,493.45 บาท ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระไป ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิเรียกเก็บจากนายหาดเมื่อชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 แล้วบางส่วน ส่วนที่ยังขาดอยู่ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิได้รับคืนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคสาม เมื่อระยะเวลาเช่าซื้อมีกำหนด 84 งวด คิดเป็นเงินค่าเช่าซื้อส่วนที่เป็นราคารถยนต์พิพาทงวดละ 9,636.83 บาท นายหาดชำระค่าเช่าซื้อรวม 24 งวด เป็นเงิน 231,283.92 บาท จึงเหลือเงินลงทุนของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ยังขาดอยู่ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับ 578,209.53 บาท เมื่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินนำรถยนต์รายการที่ 3 ซึ่งเป็นทรัพย์ที่แบ่งแยกไม่ได้ออกขายทอดตลาดแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์รายการที่ 3 เป็นเงิน 578,209.53 บาท พร้อมดอกผล ส่วนที่เหลือ (หากมี) พร้อมดอกผลจึงตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้องของผู้ร้อง ส่วนรถยนต์รายการที่ 2 ตามสัญญาเช่าซื้อระบุว่า รถยนต์มีราคาเงินสด 1,337,383.18 บาท หักเงินดาวน์แล้ว 558,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 ใช้เงินลงทุนให้นางสาวขวัญฤทัยเช่าซื้อรถยนต์ 779,383.18 บาท ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มโดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้คัดค้านที่ 2 ชำระไป ผู้คัดค้านที่ 2 มีสิทธิเรียกเก็บจากนางสาวขวัญฤทัย เมื่อชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 แล้วบางส่วน ส่วนที่ยังขาดอยู่ผู้คัดค้านที่ 2 มีสิทธิได้รับคืนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคสาม เมื่อระยะเวลาเช่าซื้อมีกำหนด 48 งวด คิดเป็นเงินค่าเช่าซื้อส่วนที่เป็นราคารถยนต์พิพาทงวดละ 16,237.15 บาท นางสาวขวัญฤทัยชำระค่าเช่าซื้อรวม 15 งวด เป็นเงิน 243,557.25 บาท จึงเหลือเงินลงทุนของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ยังขาดอยู่ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 มีสิทธิที่จะได้รับ 535,825.93 บาท เมื่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินนำรถยนต์รายการที่ 2 ซึ่งเป็นทรัพย์ที่แบ่งแยกไม่ได้ออกขายทอดตลาดแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์รายการที่ 2 เป็นเงิน 535,825.93 บาท พร้อมดอกผล ส่วนที่เหลือ (หากมี) พร้อมดอกผลจึงตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้องของผู้ร้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรถยนต์รายการที่ 3 แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเงิน 578,209.53 บาท พร้อมดอกผล และรถยนต์รายการที่ 2 แก่ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเงิน 535,825.93 บาท พร้อมดอกผล เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดส่วนที่เหลือพร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ