โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ กับให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นบุตรนางสาว ศ. กับนายสมาน เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2558 โจทก์เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ต่อมาถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 โจทก์เข้ารับการผ่าตัดหัวใจที่โรงพยาบาลดังกล่าวตามที่นัดหมาย หลังการผ่าตัดโจทก์ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เนื่องจากสมองขาดออกซิเจนช่วงเวลาหนึ่ง มารดาโจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 3 เขต 9 นครราชสีมา เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 41 คณะอนุกรรมการพิจารณาแล้วมีมติให้จ่ายเงินช่วยเหลือ 280,000 บาท แก่โจทก์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมามีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการดังกล่าวให้มารดาโจทก์ทราบ โดยส่งไปยังที่อยู่ของมารดาโจทก์ที่จังหวัดนนทบุรีตามที่ได้แจ้งไว้ พร้อมแจ้งสิทธิการยื่นอุทธรณ์ให้ทราบ ต่อมาคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของจำเลยที่ 3 อนุมัติให้จ่ายเงินช่วยเหลือจำนวนดังกล่าวแก่มารดาโจทก์ และมีการนัดหมายให้มารดาโจทก์ไปรับเงินช่วยเหลือในวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในวันดังกล่าวมีการมอบเช็คจำนวนเงิน 280,000 บาท แก่มารดาโจทก์ และมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยที่ 1 นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาวิสัญญีวิทยา) ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านพัฒนาคุณภาพบริการและมาตรฐาน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาลงลายมือชื่อในสัญญาในฐานะผู้ให้สัญญา มารดาโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับสัญญา และมีนางสาวปภสร ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นายวีระชัย ตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานจำเลยที่ 3 เขต 9 นครราชสีมา และนางสาวกานดา ตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงาน สำนักงานจำเลยที่ 3 เขต 9 นครราชสีมา ร่วมลงลายมือชื่อเป็นพยาน ก่อนคดีนี้ โจทก์กับมารดาโจทก์ร่วมกันฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยที่ 1 ให้ร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดเกี่ยวกับการรักษาโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ.521/2560 ของศาลชั้นต้น สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับการขอเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ อันเนื่องมาจากถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงให้ทำสัญญา เพราะการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่โจทก์เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยไม่จำต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความอีก จำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามฉ้อฉลหลอกลวงนางสาว ศ. มารดาโจทก์ให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ก่อนที่มารดาโจทก์และจำเลยที่ 1 จะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังการผ่าตัดโจทก์ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เนื่องจากสมองขาดออกซิเจน มารดาโจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 3 เขต 9 นครราชสีมา เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 41 คณะอนุกรรมการพิจารณาแล้วมีมติให้จ่ายเงินช่วยเหลือ 280,000 บาท แก่โจทก์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมามีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการดังกล่าวให้มารดาโจทก์ทราบ โดยส่งไปยังที่อยู่ของมารดาโจทก์ที่จังหวัดนนทบุรีตามที่ได้แจ้งไว้ พร้อมแจ้งสิทธิการยื่นอุทธรณ์ให้ทราบ ต่อมาคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของจำเลยที่ 3 อนุมัติให้จ่ายเงินช่วยเหลือจำนวนดังกล่าวแก่มารดาโจทก์ และมีการนัดหมายให้มารดาโจทก์ไปรับเงินช่วยเหลือในวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในวันดังกล่าวมีการมอบเช็คจำนวนเงิน 280,000 บาท แก่มารดาโจทก์ แสดงว่าก่อนที่มารดาโจทก์จะมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 มารดาโจทก์ได้ทราบว่าโจทก์มีสิทธิจะได้รับเงินตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 41 ที่บัญญัติว่า "ให้คณะกรรมการกันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่งของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือหาผู้กระทำผิดได้ แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด" มารดาโจทก์จึงได้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ภายหลังคณะกรรมการพิจารณาแล้วได้อนุมัติให้จ่ายเงินช่วยเหลือแก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 มีการแจ้งผลการพิจารณาการขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งตามหนังสือดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า หากไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการดังกล่าว ให้มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 9 นครราชสีมา หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบผลการพิจารณา มีการส่งหนังสือให้แก่มารดาโจทก์ได้ตามไปรษณีย์ตอบรับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 โดยส่งไปยังที่อยู่ตามที่มารดาโจทก์แจ้งไว้ในขณะยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งมารดาโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 3 ยอมรับว่า ได้รับแจ้งให้ไปรับเงินค่าเยียวยาที่ห้องประชุม ชั้น 2 ของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับพิพาท ในวันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความมารดาโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 3 ยอมรับว่า ก่อนลงลายมือชื่อ มีนายวีระชัยและนางสาวกานดา เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้อ่านข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความให้ฟัง และพยานก็ได้อ่านข้อความตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นก่อนลงลายมือชื่อ และมารดาโจทก์ยังเบิกความยอมรับว่า ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ก่อนรับเงินจำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้พูดคุยกับพยานถึงการจ่ายเงิน 280,000 บาท โดยจะจ่ายเงินเป็นเช็คสั่งจ่ายชื่อพยาน และให้พยานดูและลงลายมือชื่อในเอกสาร 3 ฉบับ คือ สัญญาประนีประนอมยอมความ คู่ฉบับสัญญา และใบสำคัญรับเงินของจำเลยที่ 3 เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแจ้งพยานว่า เป็นไปตามข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ถ้าจะรับเช็ค หลังจากลงลายมือชื่อในเอกสารรับมอบเช็คแล้วมีการถ่ายรูปร่วมกัน พยานถามเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ว่า ทำไมถึงได้แค่นี้ เจ้าหน้าที่ตอบว่า ถ้าไม่พอใจยอดนี้อุทธรณ์ได้ พยานถามต่อว่าต้องทำอย่างไร เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 บอกว่า อุทธรณ์ไปส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ โดยจำเลยทั้งสามก็นำสืบยืนยันว่า ก่อนจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่มารดาโจทก์ นายวีระชัย และนางสาวกานดา เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้อธิบายถึงที่มาของเงินและสิทธิในการอุทธรณ์ให้มารดาโจทก์ทราบแล้ว และมารดาโจทก์อ่านและได้ทราบข้อความตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วจึงมีการลงลายมือชื่อโดยสมัครใจ ไม่มีการบังคับขู่เข็ญใด ๆ โดยมีนางสาวปภสร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ มีหน้าที่รับผิดชอบในการเจรจาไกล่เกลี่ย นางสาวกิตติมา นิติกรโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมามีหน้าที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ช่วยไกล่เกลี่ยข้อร้องเรียน ร่วมอยู่ด้วย เมื่อพิจารณาจากใบสำคัญรับเงิน ก็มีข้อความระบุว่า เงินที่โจทก์ได้รับเป็นเงินของจำเลยที่ 3 สอดคล้องกับเช็คที่สั่งจ่ายให้แก่มารดาโจทก์ได้ระบุชื่อจำเลยที่ 3 ทั้งยังระบุว่า เป็นการจ่ายเงินตามมติประชุมอนุกรรมการ มาตรา 41 จำนวนเงินก็สอดคล้องกับจำนวนเงินที่มารดาโจทก์ได้รับแจ้ง โดยเฉพาะภาพถ่ายมีผู้ที่ถือป้ายที่เหน็บเช็คไว้ด้านบนเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 คือนายวีระชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการของจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 1 และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลยืนถัดออกไปข้าง ๆ เมื่อพิจารณาภาพถ่ายแล้วก็เข้าใจได้ว่าผู้มอบเช็คคือเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ไม่ใช่จำเลยที่ 1 หรือเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ส่วนผู้รับเช็คคือมารดาโจทก์โดยมีบิดาโจทก์ยืนอยู่ด้านข้างถัดออกไป ในป้ายมีข้อความว่า สปสช. มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้น มาตรา 41..." จึงเป็นหลักฐานที่แสดงโดยชัดเจนว่า เงินตามเช็คที่มอบให้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระหว่างเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 กับมารดาโจทก์ มิใช่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 นำเช็คมามอบให้แก่จำเลยที่ 1 นอกจากนั้น การที่มารดาโจทก์เบิกความว่า ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ถึงจำนวนเงินที่ได้ว่าทำไมได้เพียง 280,000 บาท ย่อมแสดงให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่ามารดาโจทก์เข้าใจเป็นอย่างดีว่าเป็นเงินช่วยเหลือจากจำเลยที่ 3 ไม่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ดังนี้ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า มารดาโจทก์รับทราบถึงที่มาของเงินช่วยเหลือว่าเป็นเงินจากจำเลยที่ 3 ตลอดจนสิทธิในการยื่นอุทธรณ์แล้ว แม้สัญญาประนีประนอมยอมความหรือคู่ฉบับสัญญาจะมีข้อความว่า "1.ทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมร่วมกันว่า โรงพยาบาล ฯ จ่ายเงิน จำนวน 280,000 บาท... ให้แก่นางสาว ศ. ผู้รับสัญญา เพื่อเป็นค่าเยียวยาและมนุษยธรรม..." ซึ่งไม่ตรงตามข้อเท็จจริงก็ตาม แต่เมื่อมารดาโจทก์ทราบดีว่าเงินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 3 การที่ระบุข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเป็นผู้จ่ายเงินจึงยังไม่อาจถือได้ว่าทำให้โจทก์เสียหาย เนื่องจากมารดาโจทก์ทราบถึงสิทธิของตนว่ายังสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์เพื่อขอเงินเพิ่มได้และยังสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องจำเลยที่ 2 กับพวกในข้อหาละเมิดได้ ซึ่งก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหาละเมิดเป็นอีกคดีหนึ่งก่อนฟ้องคดีนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นการฉ้อฉลหลอกลวงมารดาโจทก์ให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ