คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้คัดค้านอ้างว่า ผู้ร้องดำเนินการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้คัดค้านว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ต่อมาอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นสั่งฟ้องผู้คัดค้านในข้อหาดังกล่าว จึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหา (คือผู้คัดค้าน) ให้แก่พนักงานอัยการแล้ว พนักงานอัยการนัดผู้คัดค้านให้มาพบเพื่อฟังคำสั่งในวันที่ 30 มกราคม 2562 แต่ผู้คัดค้านไม่มาตามกำหนดนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ศาลชั้นต้นไต่สวนและพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องแล้วเห็นว่า พฤติการณ์เชื่อว่า ผู้คัดค้านหลบหนี จึงออกหมายจับผู้คัดค้านที่ 7/2562 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 โดยระบุหมายเหตุไว้ในหมายจับว่า ผู้ต้องหาได้หลบหนีไป เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ซึ่งอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี จึงมิให้นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายเหตุที่ปรากฏในหมายจับที่ 7/2562 หรือเพิกถอนหมายจับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีที่จะใช้กฎหมายอาญาที่มีกำหนดอายุความในระหว่างหลบหนีมาใช้บังคับนั้น ต้องเป็นคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ใช้บังคับ ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อคดีนี้ยังมิได้มีการยื่นฟ้อง จึงต้องใช้มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับ ศาลจึงออกหมายจับโดยชอบแล้ว ไม่มีเหตุเพิกถอนหมายเหตุในหมายจับหรือเพิกถอนหมายจับตามขอ ให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านฎีกา โดยรับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านโดยวินิจฉัยว่า อำนาจในการออกหมายจับผู้คัดค้านเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหมายเหตุที่ระบุไว้ในหมายจับหรือเพิกถอนหมายจับ ผู้คัดค้านย่อมอุทธรณ์ไม่ได้ นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนข้อความหมายเหตุที่ระบุไว้ในหมายจับว่า "ผู้ต้องหาได้หลบหนีไป เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ซึ่งอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดี จึงมิให้นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559" หรือเพิกถอนหมายจับเนื่องจากคดีขาดอายุความแล้ว โดยกล่าวอ้างว่า หลักเกณฑ์การนับอายุความตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มีผลใช้บังคับภายหลังวันกระทำความผิด จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับย้อนหลังให้เป็นโทษแก่ผู้คัดค้านได้ คดีของผู้คัดค้านจึงขาดอายุความแล้ว กรณีมิใช่เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับเหตุแห่งการออกหมายจับซึ่งเป็นดุลพินิจอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอันจะอุทธรณ์หรือฎีกาไม่ได้ แต่เป็นการโต้แย้งถึงระยะเวลาการมีผลใช้บังคับของหมายจับว่า กรณีจะนำบทบัญญัติของมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาใช้บังคับแก่คดีของผู้คัดค้านได้หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านเพราะเห็นว่าผู้คัดค้านไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการต่อไปว่า กรณีสามารถนำบทบัญญัติ มาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาใช้บังคับแก่กรณีของผู้คัดค้านได้หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แม้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาคดีของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับผู้คัดค้านนั้น ผู้ร้องระบุว่า ผู้คัดค้านมีพฤติการณ์กระทำความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินหรือสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2547 เมื่อความผิดที่ผู้ร้องขอให้ออกหมายจับมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 60 ซึ่งบัญญัติระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) ความผิดตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลออกหมายจับดังกล่าวจึงขาดอายุความนับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2562 ส่วนที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ" นั้น บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 อันเป็นระยะเวลาภายหลังวันกระทำความผิดของผู้คัดค้านและการนับอายุความโดยมิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีรวมเข้าด้วยกัน ตามบทบัญญัติมาตรานี้มีผลทำให้ผู้คัดค้านสามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้ แม้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ตัวผู้คัดค้านมาฟ้องภายในระยะเวลา 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติให้นับแต่วันกระทำความผิดเท่านั้น โดยไม่มีบทบัญญัติยกเว้นไม่ให้นับระยะเวลาที่หลบหนีรวมเข้าด้วยดังเช่นที่มาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 บัญญัติไว้ บทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ดังกล่าวจึงไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้าน ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า "ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว..." ดังนั้น แม้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มีบทบัญญัติในบทเฉพาะกาล มาตรา 52 ว่า บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด และกรณีของผู้คัดค้านยังไม่มีการฟ้องคดีก็ตาม แต่เมื่อบทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้าน จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ผู้คัดค้านได้ ที่ศาลชั้นต้นระบุหมายเหตุไว้ในหมายจับไม่ให้นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหา (ผู้คัดค้าน) หลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนข้อความหมายเหตุในหมายจับผู้คัดค้านที่ 7/2562 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562