เดิมนางชะงาย,นางชุบเป็นโจทก์ฟ้องนางระเวงกับนางชุ่มเป็นจำเลย ขอแบ่งมฤดกของหลวงนครฯ แล้วมีนางเผี่ยน นายหล่ำ,นางสาวสาลี่ยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วม และศาลอนุญาต ศาลชั้นต้นยกฟ้องเพราะตามพินัยกรรมหลวงนครฯ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง, นางชะงายและนางสาวสาลี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ ๓ เป็นโมฆะจำเลยต้องเอามฤดกมาแบ่งแก่ทายาทตามกฎหมาย พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นทำการพิพากษาใหม่ นายหล่ำ,นางชุบกลับยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมอีกทั้งในฐานะส่วนตัวที่ว่าเป็นทายาทหลวงนครฯ และอ้างว่า เป็นผู้รับมฤดกนางเผี่ยน โดยนางเผี่ยนตาย นางชะงายและนางสาวสาลี่คัดค้านไม่ยอมให้เกี่ยวข้องในคดี อ้างเหตุว่าไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นนับว่าคดีของผู้ร้องยุติแล้ว ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องเป็นโจทก์ร่วมตามคำร้องขอ
นางชะงายโจทก์, นางสาวสาลี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
นางชะงาย และนางสาวสาลี่ฎีกา,
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า การที่ผู้ร้องมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วยกับโจทก์นั้น หาใช่เป็นการสละมฤดกตามกฎหมาย หรือต้องด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดไม่ที่จะทำให้สิทธิในการรับมฤดกของผู้ร้องต้องเสียไป และในคดีที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งมฤดกในชั้นนี้ ยังได้ชื่อว่าระหว่างพิจารณา ซึ่งทายาทมีสิทธิร้องขอส่วนแบ่งมฤดกได้ ไม่มีเหตุอะไรตามกฎหมายที่จะไปตัดสิทธิการรับมฤดกของผู้ร้อง
พิพากษายืน.