โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง ๕ คนในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยใช้อุบายตั้งห้างหุ้นส่วนสหบัญชีจำเลยที่ ๑ ขึ้นโดยให้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายและให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ และใช้อุบายหลอกลวงแถลงความเท็จโดยประกาศโฆษณาแก่ประชาชนให้มาซื้อและเช่าซื้อที่ดินจัดสรรของจำเลยที่ ๑ ที่ตำบลหนองค้างพลู อำเภอหนองแขม จังหวัดธนบุรีทั้งระบบเงินสดและเงินผ่อนซึ่งความจริงแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่มีที่ดินจะจำหน่าย หรือให้เช่าซื้อเลย ประชาชนรวมทั้งโจทก์หลงเชื่อและโจทก์ได้ตกลงเช่าซื้อที่ดิน ๑ แปลงเนื้อที่ ๑๐๐ ตารางวา ราคา ๕,๙๐๐ บาทและซื้อที่ดิน ๑ แปลงเนื้อที่ ๖๐ ตารางวา ราคา ๖,๐๐๐ บาท โดยได้ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเรื่อยมาจนครบงวดสุดท้าย และได้จ่ายเงินค่าซื้อที่ดินแปลงหลังไปแล้วโดยจำเลยหลอกลวงว่าจะรีบออกโฉนดให้ ต่อมาโจทก์สงสัยในพฤติการณ์จำเลย จึงไปตรวจสอบหลักฐานห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ ๑ จึงทราบว่าได้จดทะเบียนเลิกกิจการไปแล้ว โดยร่วมกันแจ้งความเท็จต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ขอเลิกห้างหุ้นส่วนโดยว่าไม่มีหนี้สินเหลืออยู่อีกแล้วและได้แบ่งทรัพย์สินที่เหลือกันหมดสิ้นแล้ว เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานนายทะเบียนหลงเชื่อยอมจดทะเบียนเลิกให้ ซึ่งความจริงห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ ๑ ยังมีหนี้สินจะต้องชำระแก่โจทก์และประชาชนซึ่งถูกฉ้อโกงไปอีกมาก และจำเลยยังมีความผิดดำเนินการค้าที่ดินโดยไม่รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๒, ๓๔๓, ๑๓๗, ๘๓ ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๑๐๑, ๑๑๑, ๑๑๒
ศาลชั้นต้นส่งหมายนัดและสำเนาฟ้องให้จำเลยที่ ๕ ไม่ได้ จึงสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๕ ชั่วคราว
จำเลยทั้ง ๔ คนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สำหรับจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๑) สำหรับจำเลยที่ ๒ฟังว่าหลอกลวงโจทก์และประชาชนตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๓ และ ๔ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการนี้ พิพากษาว่าจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ ให้จำคุกไว้ ๓ ปี ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๓, ๔
โจทก์และจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยยืนเกี่ยวกับจำเลยที่ ๑, ๓, ๔ ส่วนจำเลยที่ ๒ ฟังว่ากระทำไปโดยลำพังตนเอง มิได้ร่วมมือกับจำเลยคนอื่นและโจทก์มิใช่ผู้อ่อนแอทางจิต จึงมีความผิดตามมาตรา ๓๔๓ วรรค ๑ไม่ใช่วรรค ๒ ส่วนในข้อหาจำเลยที่ ๒ ค้าที่ดินโดยไม่รับอนุญาตนั้นโจทก์มิใช่ผู้เสียหาย แต่เห็นว่าที่จำเลยที่ ๒ รู้สึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้าย มีเหตุบรรเทาโทษพิพากษาแก้ให้ลงโทษ ๑ ใน ๓คงจำคุกจำเลยที่ ๒ ไว้มีกำหนด ๒ ปี นอกจากที่แก้ คงให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมาย ซึ่งโจทก์มีสิทธิฎีกาขึ้นมาเท่านั้น สำหรับปัญหาในข้อที่ว่าสิทธิของโจทก์ในการฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนไปแล้ว เป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๑) นั้น เห็นว่าเมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ดำเนินการอย่างใดเลยจนกระทั่งจดทะเบียนเลิกไป ซึ่งเป็นการฟังว่ามิได้กระทำผิด ฉะนั้นฎีกาโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ส่วนฎีกาโจทก์ในปัญหาว่าโจทก์จะมีสิทธิฟ้องในข้อหากระทำผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน ฐานดำเนินการค้าที่ดินโดยไม่รับอนุญาตนั้น เห็นว่าโจทก์หาเป็นผู้เสียหายในการกระทำผิดส่วนนี้ไม่ หากเป็นเรื่องที่รัฐจะเป็นผู้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๒เอง ฎีกาโจทก์ในข้ออื่น ๆ เป็นการฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้าม
พิพากษายืน.