โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 147, 157 และให้จําเลยใช้เงิน 2,678,815.54 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่มหาวิทยาลัย ม.
จําเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 22 กระทง เป็นจำคุก 110 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ให้จำเลยใช้เงิน 2,370,908.83 บาท (ที่ถูก 2,370,908.82 บาท) ที่ยังไม่ได้คืนแก่มหาวิทยาลัย ม.
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความว่า จำเลยเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ตำแหน่งนักวิชาการเงินและบัญชีระดับปฏิบัติการ สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย ม. ทำหน้าที่หัวหน้างานการเงินและบัญชีของมหาวิทยาลัย ม. มีหน้าที่ลงบัญชีการเบิกจ่ายเงินและลงทะเบียนคุมเอกสาร ตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายเงิน ควบคุมงบประมาณการเบิกจ่ายเงินในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น คณะศึกษาศาสตร์ตามบัญชีเงินฝากธนาคาร ท. เลขที่ 438-2-74xxx-x บัญชีเงินฝากกองทุนสวัสดิการบุคลากรคณะศึกษาศาสตร์ตามบัญชีเงินฝากธนาคาร ท. เลขที่ 517-2-30xxx-x (ต่อมาเปลี่ยนเป็นเลขที่ 438-2-92xxx-x) และบัญชีเงินฝากโครงการหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตตามบัญชีเงินฝากธนาคาร ท. เลขที่ 517-2-07xxx-x มีหน้าที่ทำและกรอกข้อความลงในเอกสาร ดูแลรักษาเอกสารเกี่ยวกับการเงินและบัญชี ควบคุมดูแลเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเงินทุกประเภทของคณะศึกษาศาสตร์ตามคำสั่งคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย ม. ที่ 888/2557 ที่ 225/2558 ที่ 1702/2560 และที่ 1606/2561 มหาวิทยาลัย ม. ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้มีโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นโดยคณะศึกษาศาสตร์รับหน้าที่เป็นประธานเครือข่ายโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นทางอีสานตอนล่าง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ แจ้งว่ามีการจัดสรรงบประมาณให้คณะศึกษาศาสตร์ดำเนินการจัดทำหลักสูตรและพัฒนาครูระยะเข้าสู่วิชาชีพ จากนั้นให้จัดทำงบประมาณการใช้จ่ายเสนอคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่ออนุมัติงบประมาณ เมื่อได้รับอนุมัติแล้วให้อธิการบดีลงนามและมีหนังสือส่งกลับไปคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของมหาวิทยาลัย ม. มหาวิทยาลัย ม. จะแจ้งจําเลยซึ่งเป็นหัวหน้างานการเงินและบัญชีเพื่อให้ทราบว่ามหาวิทยาลัย ม. ได้รับเงินดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากที่เปิดไว้แล้ว หลังจากนั้นมีการประชุมคณะกรรมการประกอบด้วยคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการที่รับผิดชอบโครงการ และกรรมการอื่นเพื่อวางแผนดำเนินโครงการและเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ฝ่ายเลขานุการเขียนโครงการเพื่อขออนุมัติตามที่วางแผนไว้แล้วนําโครงการเสนอรองคณบดีและคณบดีตามลำดับ เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจําเลยได้รับมอบหมายตามคำสั่งให้รับผิดชอบเรื่องการเงินของโครงการโดยเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากแล้วนํามาจ่ายตามรายการโครงการที่ได้รับอนุมัติ เมื่อโครงการสิ้นสุดต้องทำรายงานสรุปการใช้จ่าย หากมีเงินคงเหลือต้องนำส่งคืนเข้าบัญชีเงินฝาก การจัดโครงการต่าง ๆ ของคณะศึกษาศาสตร์ต้องขออนุมัติจากคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ให้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน จำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานกรรมการฝ่ายการเงินและพัสดุ มีหน้าที่ลงบัญชีการเบิกจ่ายเงิน ลงทะเบียนคุมเอกสาร ตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายเงิน และควบคุมงบประมาณการเบิกจ่ายของแต่ละโครงการตามคำสั่งคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย ม. ที่ 1342/2561 สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ 3.1.1 และ 3.1.2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คู่ความมิได้อุทธรณ์ ความผิดดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จําเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ โจทก์มีรองศาสตราจารย์ ดร.พชรวิทย์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย ม. เบิกความประกอบพยานเอกสารยืนยันว่า จําเลยเป็นพนักงานของรัฐหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ทำหน้าที่หัวหน้างานการเงินและบัญชี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้คณะศึกษาศาสตร์ดำเนินโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นโดยจัดสรรงบประมาณให้คณะศึกษาศาสตร์ โครงการดังกล่าวดำเนินการปี 2558 เป็นต้นไป เมื่อคณะศึกษาศาสตร์จัดทำแผนการดำเนินโครงการให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาอนุมัติแล้ว สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะส่งงบประมาณมาที่คณะศึกษาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์เปิดบัญชีเงินฝากโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น คณะศึกษาศาสตร์ รองรับโครงการโดยพยาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวัฒน์ ตำแหน่งรองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และรองศาสตราจารย์รังสรรค์ ตำแหน่งรองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ลงนามสองในสามเพื่อเบิกถอนเงินมาใช้ในโครงการ การทำโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นมีหลายโครงการโดยเสนอโครงการผ่านบุคคลต่าง ๆ เพื่อกลั่นกรองและตรวจสอบ รวมทั้งผ่านจําเลยซึ่งเป็นหัวหน้างานการเงินและบัญชีในการตรวจสอบ เมื่อพยานในฐานะคณบดีคณะศึกษาศาสตร์อนุมัติโครงการจะมีการเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น คณะศึกษาศาสตร์ไปใช้ในการทำโครงการที่ได้รับอนุมัติ พยานและผู้รับผิดชอบโครงการลงชื่อเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากโดยมอบฉันทะให้จําเลยเบิกถอนเงินและรับเงินจากธนาคารมาดำเนินโครงการ การเบิกถอนเงินงบประมาณเพื่อใช้ในโครงการของหมวดที่เสนอโครงการแต่ละครั้ง ไม่มีการรายงานสรุปในการนําเงินงบประมาณไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ต่อมามีการตรวจสอบพฤติการณ์ของจําเลยพบว่ากรณีมีการเบิกเงินงบประมาณไปใช้ในโครงการแล้วมีเงินคงเหลือและไม่ส่งเงินคงเหลือคืน และกรณีจําเลยเบิกเงินงบประมาณแล้วแต่ยังไม่มีการอนุมัติโครงการ กรณีหลังจําเลยยอมรับกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า จําเลยเบิกเงินงบประมาณโดยยังไม่มีการอนุมัติโครงการ จําเลยอ้างว่านําโครงการเก่ามาปรับตัวเลขเพื่อจะขอเบิกเงินงบประมาณ คณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงดำเนินการสอบข้อเท็จจริง จําเลยรับว่าการเบิกเงินงบประมาณโดยโครงการยังไม่ได้รับการอนุมัติ เป็นการนําโครงการเดิมมาปรับแต่งงบประมาณ รวมทั้งเงินงบประมาณที่เบิกอยู่ที่จําเลย และจําเลยอ้างว่านําเงินไปช่วยพี่สาว จําเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้กับคณะศึกษาศาสตร์ ส่วนเงินงบประมาณจากบัญชีเงินฝากกองทุนสวัสดิการบุคลากรคณะศึกษาศาสตร์ พยานกับจําเลยมีอำนาจเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าว การเบิกถอนเงินจําเลยนําตรายางที่มีลายมือชื่อของพยานไปประทับเพื่อเบิกถอนเงิน พยานให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร ตามที่มหาวิทยาลัย ม. มีหนังสือมอบอำนาจให้พยานในฐานะคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ไปแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่จําเลย ทั้งมหาวิทยาลัย ม. ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยจําเลย การชดใช้เงินคืนของจําเลยตามหนังสือรับสภาพหนี้ จําเลยคืนเงิน 320,000 บาท ให้คณะศึกษาศาสตร์ การเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากทั้ง 3 บัญชี นอกจากนี้รองศาสตราจารย์ ดร.พชรวิทย์ให้การต่อพนักงานสอบสวนอีกว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 คณะศึกษาศาสตร์ตรวจสอบเงินในบัญชีเงินฝากโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น คณะศึกษาศาสตร์ บัญชีเงินฝากกองทุนสวัสดิการบุคลากรคณะศึกษาศาสตร์ และบัญชีเงินฝากโครงการหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตพบว่ามีการเคลื่อนย้ายถ่ายโอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวโดยไม่ทราบสาเหตุรวม 2,659,580 บาท ยิ่งกว่านั้นในวันเดียวกันจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้กับรองศาสตราจารย์ ดร.พชรวิทย์ โดยยอมรับผิดและจะชดใช้เงินที่นำไปดังกล่าวภายในวันที่ 15 กันยายน 2562 แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยเพิกเฉย ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 คณะศึกษาศาสตร์ตรวจสอบเงินในบัญชีเงินฝากอีกครั้งพบว่าจำนวนเงินที่ถูกยักยอกไปเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นเงิน 2,862,077.26 บาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้ บัญชีเงินฝากโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น คณะศึกษาศาสตร์เป็นเงิน 1,740,285 บาท บัญชีเงินฝากกองทุนสวัสดิการบุคลากรคณะศึกษาศาสตร์เป็นเงิน 705,986 บาท และบัญชีเงินฝากโครงการหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตเป็นเงิน 415,806.26 บาท โดยจำเลยไม่ได้นำพยานหลักฐานใดมาสืบหักล้าง เยี่ยงนี้ พยานบุคคล เอกสาร วัตถุ และพยานพฤติเหตุแวดล้อมทั้งปวงของโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จําเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินของผู้เสียหายไปอันเป็นการกระทำความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ม. ผู้เสียหาย ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดคำนิยามของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษาจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วน "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงานจึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ม. พ.ศ. 2537 และข้อบังคับมหาวิทยาลัย ม. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2552 ที่ใช้บังคับขณะจำเลยกระทำผิดแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกำหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และศาลไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 157 ตามฟ้องของโจทก์ได้ ถึงกระนั้นก็ตามแม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยเบียดบังทรัพย์ของผู้เสียหายไปในฐานะบุคคลธรรมดาซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 พิพากษาลงโทษฐานนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ให้จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 22 กระทง เป็นจำคุก 66 เดือน คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 44 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์