โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 339,340 ตรี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 ให้ลงโทษจำคุก 18 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุได้มีคนร้าย 2 คนชิงทรัพย์คือรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน ฉ-1675 นครศรีธรรมราช ไปจากผู้เสียหาย ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวอยู่ในครอบครองของจำเลย ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยเป็นคนร้ายชิงทรัพย์หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความเพียงปากเดียวว่า เห็นคนร้ายจากแสงไฟสปอทไลท์ที่เสาไฟฟ้าจำหน้าคนร้ายได้คนเดียวคือคนที่ใช้อาวุธปืนจี้ เมื่อวันที่ 20เมษายน 2531 พยานได้ไปดูตัวคนร้ายและรถจักรยานยนต์ของกลางจำได้ว่าเป็นรถจักรยานยนต์ของพยาน แต่จำเลยไม่ใช่คนร้ายที่ใช้อาวุธปืนจี้และจะใช่คนร้ายอีกคนหนึ่งหรือไม่ก็จำไม่ได้ พยานได้บอกแก่เจ้าพนักงานตำรวจไปแล้วว่าจำเลยไม่ใช่คนร้าย เช่นนี้ พยานโจทก์จึงไม่อาจรับฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแต่ตามคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจประมูล บุตรครุฑ ผู้จับกุมได้ความว่าก่อนจับกุมจำเลยกำลังซื้อบุหรี่อยู่ที่บ้านริมถนน เมื่อจำเลยเห็นเจ้าพนักงานตำรวจก็มีท่าทางพิรุธตกใจและรีบขับรถจักรยานยนต์หลบหนีพยานจึงขับรถจักรยานยนต์ไล่ตามไปและจับกุมตัวได้ เมื่อตรวจรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับไม่พบหลักฐานใด ๆ จำเลยเองก็เบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า รถจักรยานยนต์ของกลางไม่มีแผ่นป้ายทะเบียนในชั้นสอบสวนจำเลยก้ได้ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าขอยืมรถมาจากนายปอยมิใช่นายเชียรดังที่มาเบิกความต่อศาล ทั้งในชั้นจับกุมจำเลยแจ้งชื่อว่าชื่อสายัญณ์ รัตนกระจ่าง ซึ่งเป็นเท็จ เพราะตามบัตรประจำตัวประชาชนจำเลยชื่อประจวบ เสละพัฒน์ ดังนี้ พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยได้รับรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ซึ่งได้มาจากการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์อันเป็นความผิดฐานรับของโจร และศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม..."
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357วรรคสอง ให้จำคุก 4 ปี.