โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 587,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยส่งมอบเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขามีนบุรี ฉบับเลขที่ 1391586 คืนแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้เงินและรับเงินจำนวน 4,500,000 บาท ตามฟ้องของโจทก์ จำเลยไม่มีความจำเป็นต้องนำเงินไปเสียค่าใช้จ่ายในการขออนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินให้แก่ลูกค้าเป็นจำนวนถึง 500,000 บาท สัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอม โจทก์นำเอาสัญญากู้ยืมที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้ไปกรอกข้อความเองโดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 587,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยส่งมอบเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขามีนบุรี เลขที่ 1391586 คืนแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 4,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2540 จำเลยได้ติดต่อขอกู้เงินจากโจทก์จำนวน 4,000,000 บาท โจทก์ตกลงโดยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขามีนบุรี เลขที่ 1391586 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2540 จำนวนเงิน 4,000,000 บาท และต้นขั้วเช็คมอบให้แก่จำเลย และจำเลยได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน และสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยมีนบุรี เลขที่ 0141755 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2541 จำนวนเงิน 6,400,000 บาท มอบให้แก่โจทก์ไว้ ต่อมาจำเลยได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากโจทก์มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย จำเลยจึงติดต่อขอหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน และเช็คของจำเลยคืนจากโจทก์ แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยจึงได้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจนครบาลนิมิตรใหม่ไว้เป็นหลักฐาน คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อฟังได้ว่าจำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป 500,000 บาท และต่อมาจำเลยได้ติดต่อจะขอกู้เงินโจทก์อีกจำนวน 4,000,000 บาท แล้วโจทก์กับจำเลยได้ทำหลักฐานการกู้ยืมตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโดยระบุรวมเอาจำนวนเงิน 500,000 บาทที่จำเลยกู้จากโจทก์ไปก่อนหน้านั้นเข้าไว้ด้วย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,500,000 บาท ดังที่ปรากฏในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ดังนั้นแม้การกู้เงินกับจำนวน 4,000,000 บาท ในภายหลังจะไม่เกิดขึ้น หนังสือสัญญากู้ยืมเงินก็ยังมีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ในหนี้จำนวน 500,000 บาทที่มีการกู้ยืมกันจริง โดยเอกสารหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวหาใช่เป็นเอกสารปลอมแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงอ้างเอกสารนั้นมาเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ถือว่าโจทก์มีพยานหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีในหนี้เงินกู้ยืมจำนวนเงิน 500,000 บาทแล้วตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ตามฟ้องนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกาแทนโจทก์ 4,000 บาท.