โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 4,878,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 4,388,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 พฤษภาคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองเท่าที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันและเป็นเพื่อนกับจำเลย ซึ่งเคยเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการบริษัทวิคเตอรี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ประมาณต้นปี 2553 โจทก์ทั้งสองจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 15885 และ 15886 พร้อมอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น เลขที่ 74/3 และ 74/4 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว แต่โจทก์ทั้งสองไม่สามารถขอสินเชื่อเงินกู้จากสถาบันการเงินเพื่อชำระค่าซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์ โจทก์ทั้งสองจึงเชิดจำเลยเป็นตัวแทนซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 15885 และ 15886 พร้อมอาคารพาณิชย์ เลขที่ 74/3 และ 74/4 เป็นตัวแทนทำสัญญากู้เงินและสัญญาจำนอง วันที่ 26 มีนาคม 2553 จำเลยทำสัญญากู้เงิน 8,492,000 บาท จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทำนิติกรรมจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15885 และ 15886 พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 74/3 และ 74/4 จากผู้ขาย และทำสัญญาจำนองที่ดินทั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ไว้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นงวดรายเดือน เดือนละ 52,700 บาท เมื่อชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยครบถ้วนแล้วจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงพร้อมอาคารพาณิชย์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจ้างตกแต่งอาคารพาณิชย์เลขที่ 74/3 และ 74/4 ชั้นล่างตกแต่งเป็นสำนักงาน ส่วนชั้นบนตกแต่งเป็นที่อยู่อาศัยของโจทก์ทั้งสองและครอบครัว แล้วโจทก์ที่ 1 ย้ายภูมิลำเนาเข้ามาเป็นเจ้าบ้านในอาคารพาณิชย์เลขที่ 74/3 โจทก์ที่ 2 ย้ายภูมิลำเนาเข้ามาเป็นเจ้าบ้านในอาคารพาณิชย์เลขที่ 74/4 โจทก์ทั้งสองร่วมกันผ่อนชำระเงินกู้ให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 55 งวด งวดละ 52,700 บาท รวมเป็นเงิน 2,898,500 บาท แล้วผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดเดือนมิถุนายน 2558 เป็นต้นมา ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีหนังสือลงวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้เงินกู้ที่ค้างชำระและไถ่ถอนการจำนอง ยอดหนี้ค้างชำระเพียงวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เป็นต้นเงิน 7,848,771.82 บาท ดอกเบี้ย 966,308.85 บาท รวมเป็นเงิน 8,815,080.67 บาท วันที่ 2 ธันวาคม 2558 จำเลยชำระเงิน 475,000 บาท ให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยเป็นการชำระหนี้ต้นเงิน 54,895.51 บาท ดอกเบี้ย 420,104.49 บาท ยอดหนี้คงเหลือเป็นต้นเงิน 7,793,876.31 บาท ดอกเบี้ย 726,833.63 บาท จำเลยทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยผ่อนชำระหนี้เป็นงวดรายเดือน เดือนละ 50,000 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นไป จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 474/2559 ของศาลชั้นต้น ขอให้ขับไล่โจทก์ทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 15885 และ 15886 และอาคารพาณิชย์เลขที่ 74/3 และ 74/4 และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 486,256 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 474,300 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ทั้งสองไม่ยื่นคำให้การต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ขับไล่โจทก์ทั้งสองและให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและอาคารพาณิชย์ ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คดีถึงที่สุด
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองในข้อแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินมัดจำ ค่าจ้างตกแต่งอาคารและเงินที่โจทก์ทั้งสองผ่อนชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้แก่โจทก์ทั้งสองฐานลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 นั้น เป็นการพิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าได้เชิดจำเลยแสดงออกเป็นตัวแทนโจทก์ทั้งสองในการทำสัญญาซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ สัญญากู้เงินและสัญญาจำนอง ซึ่งจำเลยให้การยอมรับ และศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ก็ตาม แต่จำเลยได้ให้การต่อสู้ด้วยว่าการที่จำเลยเป็นตัวแทนทำสัญญาซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ สัญญากู้เงินและสัญญาจำนองดังกล่าวนั้นโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้ เมื่อชำระครบถ้วนแล้วจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์คืนให้แก่โจทก์ทั้งสอง ซึ่งในคำฟ้องและทางนำสืบโจทก์ทั้งสองก็ยอมรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้เงินกู้แต่โจทก์ทั้งสองผ่อนชำระหนี้เพียง 55 งวด แล้วผิดนัดชำระหนี้ เป็นเหตุให้จำเลยต้องชำระหนี้ส่วนที่ค้างชำระและทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยการผ่อนชำระหนี้เดือนละ 50,000 บาท ให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้จนกว่าจะชำระครบถ้วน อันเป็นกรณีที่ฟังได้ว่าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนได้ออกเงินทดรองหรือออกเงินค่าใช้จ่ายไปหรือตัวแทนต้องรับภาระเป็นหนี้ขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็น ตัวแทนจะเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการและเรียกให้ตัวการชำระหนี้แทนตนก็ได้ หรือถ้ายังไม่ถึงเวลากำหนดชำระหนี้ จะให้ตัวการให้ประกันอันสมควรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 816 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ส่วนโจทก์ทั้งสองในฐานตัวการชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยส่งมอบที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์อันเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 และโจทก์ทั้งสองต้องคืนเงินที่จำเลยชำระให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้รวมทั้งดอกเบี้ยและต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้รวมทั้งดอกเบี้ยแทนจำเลย แต่โจทก์ทั้งสองกลับฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินมัดจำ ค่าจ้างตกแต่งอาคาร และเงินที่ผ่อนชำระแก่ธนาคารผู้ให้กู้ ซึ่งมิใช่เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนที่ตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น กรณีไม่อาจนำข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความมาปรับเข้ากับบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 ได้ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นพิพาทโดยนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ฐานลาภมิควรได้มาปรับเข้ากับข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็นที่พิพาท อันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองในข้อต่อไปว่า ศาลชั้นต้นนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 มาปรับใช้กับข้อเท็จจริงในคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา..." การอันจะเป็นลาภมิควรได้ ต้องเป็นกรณีที่ได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใด โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลผู้ชำระหนี้เสียเปรียบ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15885 และ 15886 พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 74/3 และ 74/4 ไว้แทนโจทก์ จำเลยต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์คืนแก่โจทก์ทั้งสองก็ต่อเมื่อโจทก์ทั้งสองผ่อนชำระเงินกู้รวมทั้งดอกเบี้ยแก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้กู้ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองผ่อนชำระหนี้ไปเพียง 55 งวด แล้วผิดนัดชำระหนี้ โดยมียอดหนี้ค้างชำระเพียงวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เป็นต้นเงิน 7,848,771.82 บาท ดอกเบี้ย 966,308.85 บาท รวมเป็นเงิน 8,815,080.67 บาท กรณีต้องฟังว่าโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา และเป็นเหตุให้จำเลยต้องชำระเงิน 475,000 บาท ให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 เป็นการชำระต้นเงิน 54,895.51 บาท ดอกเบี้ย 420,104.49 บาท ส่วนยอดหนี้คงเหลือเป็นต้นเงิน 7,793,786.31 บาท ดอกเบี้ย 726,833.63 บาท จำเลยทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลยต้องผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นรายเดือน เดือนละ 50,000 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบถ้วน ซึ่งเป็นการชำระเงินและรับภาระหนี้แทนโจทก์ทั้งสอง หาใช่จำเลยชำระเงินไปเพียง 474,300 บาท แล้วได้มาซึ่งทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงกว่าจำนวนเงินที่ชำระไปไม่ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบ การที่ศาลชั้นต้นนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 มาปรับใช้กับข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ