โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 290 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 4
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายอันเป็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปฏิเสธข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี แต่ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสาม (ที่ถูก มาตรา 277 วรรคสอง) 290 (ที่ถูก มาตรา 290 วรรคหนึ่ง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 วรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี พิเคราะห์รายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร (สาขามีนบุรี) แล้ว เห็นว่า แม้จำเลยจะถูกดำเนินคดีเป็นครั้งแรก ความประพฤติไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรง และผู้ปกครองยังติดตามห่วงใยก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่กระทำความผิดต่อผู้ตายซึ่งมีอายุเพียง 3 ปีเศษ เป็นบุคคลที่ต้องพึ่งพาอาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกับจำเลย นับว่าจำเลยขาดจิตสำนึกที่ดีและไม่รู้จักยับยั้งอารมณ์ความใคร่ ทั้งเป็นภัยต่อสตรีเพศโดยทั่วไป ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์มีอัตราโทษสูง แต่หากจำเลยได้รับการฝึกอบรมและขัดเกลานิสัยและความประพฤติสักระยะหนึ่งอาจทำให้ดีขึ้น และจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยมากกว่าที่จะลงโทษจำคุก ทั้งนี้ เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของจำเลยเอง อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 4 ปี แต่ไม่เกินกว่าจำเลยจะมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ หากจำเลยถูกควบคุมตัวเพื่อฝึกอบรมแล้ว แต่ยังไม่ครบกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ให้ส่งไปจำคุกในเรือนจำ มีกำหนด 2 ปี ตามมาตรา 142 วรรคสอง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยข้อเท็จจริงได้ความจากบันทึกคำให้การของพลตำรวจตรีภวัต ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยาโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งพลตำรวจตรีภวัต เป็นผู้จัดทำรายงานการตรวจศพระบุรายละเอียดว่า ผู้ตายถูกทำร้ายทางเพศ เนื่องจากตรวจพบการฉีกขาดใหม่ที่เยื่อพรหมจรรย์ตำแหน่งที่ 2 และที่ 4 นาฬิกา ยาว 2 มิลลิเมตร รูทวารอ้ากว้าง พบติ่งเนื้อในรูทวารหลายแฉก โดยมากมักเกิดจากถูกทำร้ายทางเพศ และระบุว่า รูทวารถ่างกว้างและมีติ่งเนื้อแสดงว่ามีการถ่างขยายอวัยวะดังกล่าวเป็นประจำ อาจเกิดจากการถูกชำเราทางทวารหนักเป็นประจำ ทั้งจากทางนำสืบของโจทก์ ได้ความว่าผู้ตายถูกทำร้ายเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 ในชั้นสอบสวนจึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และกระทำความรุนแรงในครอบครัว ต่อมาหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายและผลการตรวจพิสูจน์ศพผู้ตายปรากฏว่าพบบาดแผลฉีกขาดใหม่ที่เยื่อพรหมจรรย์ของผู้ตาย จึงแจ้งข้อหาเพิ่มเติมตามฟ้อง ส่วนจำเลยให้การรับสารภาพโดยไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันและทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำชำเราผู้ตายในคราวเดียวกันกับที่จำเลยทำร้ายผู้ตาย โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมหลังจากที่มีการตรวจพิสูจน์ศพผู้ตายแล้ว เมื่อพิจารณาจากบันทึกคำให้การของพลตำรวจตรีภวัตแล้ว พลตำรวจตรีภวัตให้ความเห็นว่าการทำร้ายทางเพศเกิดขึ้นเป็นประจำ ไม่ใช่ในคราวใดคราวหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งเจตนาของจำเลยที่ใช้มือตีไปที่ศีรษะและบริเวณหลังคือเจตนาทำร้ายผู้ตายที่เป็นเด็กด้วยความโมโหและเจตนากระทำความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งสามารถแยกออกจากเจตนาของจำเลยที่กระทำความผิดข้อหากระทำชำเราได้ การกระทำของจำเลยจึงเห็นได้ชัดว่า จำเลยมีเจตนาที่ประสงค์ต่อผลในการกระทำทั้งสองข้อหาแตกต่างกัน จึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง, 290 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันใหลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานกระทำชำเราแก่เด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี จำคุก 4 ปี ฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายและกระทำความรุนแรงในครอบครัว เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 7 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานกระทำชำเราแก่เด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี จำคุก 2 ปี ฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย จำคุก 3 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 5 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 5 ปี หากจำเลยมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว ยังควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังไม่ครบกำหนดขั้นต่ำให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกในเรือนจำมีกำหนด 2 ปี ตามมาตรา 142 วรรคท้าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ