โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 11, 62 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา27, 32 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16, 17พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 มาตรา 8 ทวิ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527 มาตรา 3 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ริบของกลางจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 62 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา27, 32 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16, 17พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 มาตรา 8 ทวิ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527 มาตรา 3 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 เรียงกระทงลงโทษ ฐานออกไปและเข้ามาในราชอาณาจักรรวมสองกระทง ปรับกระทงละ 400 บาท ฐานนำเงินออกไป ปรับ 40,320 บาท รวมปรับ41,120 บาท จำเลยให้การรับสารภาพโดยดี ปรานีลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 20,560 บาท ริบของกลางจ่ายเงินสินบนและรางวัลร้อยละ 30 กับ 15 ของค่าปรับแก่ผู้นำจับกับผู้จับตามลำดับสำหรับความผิดตามกฎหมายศุลกากร
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานนำเงินตราไทยออกไปนอกพระราชอาณาจักรเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา90 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดฐานออกไปและเข้ามาในราชอาณาจักรเพราะการข้ามฝั่งไทย-ลาวเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชาวบ้านตามหมู่บ้านชายแดนไทย-ลาว นั้นเห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง คดีต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลย ว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดดังโจทก์ฟ้อง จำเลยจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่าง ต้อง ห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองไม่ควรลงโทษปรับจำเลยเป็น 4 เท่าของเงินที่จำเลยนำออกนอกราชอาณาจักร สมควรจะลงโทษเบากว่านี้นั้น เห็นว่า ในข้อหานี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักกว่าพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ซึ่งตามฟ้องของโจทก์ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา27 โดยกฎหมายมาตรานี้บัญญัติเกี่ยวกับโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดว่า..สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปีหรือทั้งปรับทั้งจำ คดีนี้ศาลชั้นต้นปรับจำเลยเป็นเงินสี่เท่าของจำนวนเงินตราที่นำออกไปนอกพระราชอาณาจักรตามกฎหมายแล้ว ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าว มิได้ให้ดุลพินิจศาลที่จะใช้อำนาจปรับให้น้อยกว่านั้น หรือเป็นอย่างอื่นได้ศาลฎีกาจึงไม่อาจปรับให้น้อยลงหรือลงโทษสถานเบากว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด..."
พิพากษายืน