โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 151,428.57 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ 8,888 บาท โดยไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายอื่นและดอกเบี้ยนอกเหนือจากนี้อีก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลของทั้งสองศาลส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2556 นางเสงี่ยม ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ หมายเลขทะเบียน บบ 7106 ไปจากโจทก์ มีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม นางเสงี่ยมผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดประจำวันที่ 15 มกราคม 2557 และได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ ซึ่งโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาดได้ราคาน้อยกว่ายอดหนี้คงค้างตามสัญญาเช่าซื้อ วันที่ 22 มิถุนายน 2559 โจทก์ฟ้องนางเสงี่ยมและจำเลยขอให้รับผิดชำระค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นางเสงี่ยมชำระค่าเสียหาย 160,000 บาท แต่ให้ยกฟ้องจำเลย ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวถึงการผิดนัดของนางเสงี่ยมให้จำเลยทราบ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ. 894/2559 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ปัญหานี้ตามสำเนาสัญญาเช่าซื้อ ระบุว่า นางเสงี่ยม ลูกหนี้ต้องชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือน โดยชำระทุกวันที่ 15 ของเดือน และชำระงวดแรกวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 กับตามคำฟ้องคดีนี้และคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีเดิม ปรากฏว่า นางเสงี่ยมลูกหนี้ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 8 งวดและไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 ซึ่งถึงกำหนดชำระวันที่ 15 มกราคม 2557 เป็นต้นมา นางเสงี่ยมลูกหนี้จึงผิดนัดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2557 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ซึ่งมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่าพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 และมาตรา 19 บัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น แม้คดีก่อนโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 หลังจากพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแล้ว แต่นางเสงี่ยมลูกหนี้ผิดนัดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2557 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 19 ดังกล่าว โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจึงไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวจำเลยผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ แต่ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง เดิม ที่บัญญัติว่า ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น อย่างไรก็ดี แม้ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยในคดีเดิมเป็นทำนองว่าโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวจำเลยผู้ค้ำประกันวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 เกินกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 (จำเลยในคดีนี้) ผู้ค้ำประกันรับผิดได้อันเป็นการนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่คดีของโจทก์ แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยผู้ค้ำประกัน คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า คดีเดิมศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ ด้วยเหตุว่าโจทก์บอกกล่าวแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันเกินกว่าหกสิบวันนับแต่ผู้เช่าซื้อผิดนัด โดยยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยผิดสัญญาค้ำประกันหรือไม่ และต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเพียงใด ประเด็นดังกล่าวจึงยังไม่ได้มีการวินิจฉัยถึงที่สุด เมื่อโจทก์บอกกล่าวแก่จำเลยและฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีเดิม ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ. 894/2559 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด ปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีผู้บริโภคยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สัญญาค้ำประกันคดีนี้ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 เดิม โดยโจทก์ไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดของนางเสงี่ยม ผู้เช่าซื้อให้จำเลยทราบ ตามมาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ และตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ 5 มีข้อตกลงว่าผู้ค้ำประกันตกลงผูกพันตัวเองและรับผิดต่อเจ้าของสัญญาทั้งเป็นส่วนตัวและร่วมกับผู้เช่าซื้อโดยมิใช่เป็นแต่เพียงผู้ค้ำประกันของผู้เช่าซื้อเท่านั้น ดังนั้น จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดกับนางเสงี่ยม ผู้เช่าซื้อ ตามข้อสัญญาดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ.894/2559 พิพากษาให้นางเสงี่ยมชำระค่าขาดราคา 140,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ 20,000 บาท จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมกับนางเสงี่ยมรับผิดชำระหนี้ดังกล่าว อย่างไรก็ตามสำหรับค่าขาดประโยชน์ โจทก์มีคำขอให้จำเลยร่วมรับผิดเป็นระยะเวลา 60 วัน เป็นเงิน 11,428.57 บาท จึงเห็นควรกำหนดให้ตามขอ รวมค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์ที่จำเลยต้องร่วมรับผิดเป็นเงิน 151,428.57 บาท
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยร่วมกับนางเสงี่ยม ผู้เช่าซื้อชำระเงิน 151,428.57 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ