โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 7,420,708.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,672,221.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ร. เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ช่วงระหว่างวันที่ 20 กันยายน 2547 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนนิติบุคคลถึงวันที่ 28 มีนาคม 2560 จำเลยที่ 3 เป็นพี่เขยของจำเลยที่ 2 และเป็นผู้ลงนามในใบหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งออกให้แก่โจทก์โดยใบหุ้นระบุว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ (Authorized Officer) เมื่อประมาณปี 2548 บริษัท ร. โฆษณาชักชวนโจทก์ให้ร่วมลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยหรือ Land Banking ระบุว่า ผู้ลงทุนสามารถลงทุนด้วยการซื้อหน่วยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ Units โจทก์ตกลงเข้าร่วมลงทุนดังกล่าว วันที่ 27 ตุลาคม 2548 โจทก์ทำสัญญา Purchase & Sale Agreement ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ร. โดยบริษัท ม. และโจทก์ ระบุวัตถุที่ประสงค์ในการทำสัญญาว่า โจทก์ตกลงซื้อประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบรายได้ใด ๆ อันเกิดจากการขาย ให้เช่า หรือความตกลงใด ๆ ซึ่งคล้ายกันที่เกี่ยวกับที่ดิน ผ่านการจัดสรรหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยผู้ซื้อจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนของหุ้นดังกล่าวและสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่จะสร้างรายได้ด้วยการขาย ให้เช่าหรือการทำความตกลงใด ๆ สัญญาระบุประโยชน์ตอบแทนอันเกิดจากสัญญา (Consideration) ว่า โจทก์ตกลงซื้อ Preferential share units ในบริษัทจำเลยที่ 1 จำนวน 5 หน่วย ซึ่งเท่ากับ 5 หน่วย ในทรัพย์สินของบริษัทจำเลยที่ 1 และเพื่อตอบแทนการลงทุนของโจทก์ ผู้ขายตกลงให้ประโยชน์ตอบแทนจากรายได้ซึ่งเกิดขึ้นจากการขาย ให้เช่าหรือความตกลงใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินซึ่งยังมิได้พัฒนาตามที่ระบุไว้ในเอกสาร A ท้ายข้อตกลง ผลประโยชน์เหนือทรัพย์สินตามสัญญา (Interest in the Asset) ระบุว่า สิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จะนำไปจดทะเบียนต่อกรมที่ดิน และประโยชน์ของโจทก์ในหน่วยลงทุนของจำเลยที่ 1 จะมีการจดแจ้งลงในเอกสารบริษัท โดยมีหลักฐานเป็นใบหุ้น (Share certificate) โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีบริษัท ม. 8,732,750 เยน คิดเป็นเงินไทย 2,672,221.50 บาท หรือหน่วยละ 534,444.30 บาท จำเลยที่ 1 ออกใบหุ้นจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ระบุโจทก์ถือหุ้นจำเลยที่ 1 จำนวน 5 หุ้น ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2550 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นระบุโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นลำดับที่ 28 จำนวน 5 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ลงทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 29 กันยายน 2549 จากนั้นมีการคัดชื่อโจทก์ออกจากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 โดยสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 จากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 ซึ่งจำเลยที่ 2 นำส่งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทไม่ปรากฏโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 อีกต่อไป
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นซึ่งไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการที่ตนได้เข้าชื่อซื้อโดยยกเหตุว่าสำคัญผิด หรือต้องข่มขู่ หรือถูกลวงล่อฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1114 ได้นั้น หมายถึงผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นเพราะเป็นผู้เริ่มก่อการซึ่งเข้าชื่อซื้อไว้ก่อนการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1098 (6) และบุคคลอื่นซึ่งเข้าชื่อซื้อหุ้นไว้ก่อนการจดทะเบียนบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1104 รวมทั้งผู้เริ่มก่อการและบุคคลอื่นซึ่งเข้าชื่อซื้อหุ้นไว้ในกรณีที่มีการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนบริษัทภายในวันเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1111/1 (1) เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามหนังสือรับรองว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 และได้ความตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นว่า โจทก์ลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2549 ภายหลังมีการจดทะเบียนบริษัทของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์มิได้เข้าถือหุ้นตั้งแต่แรกเมื่อมีการออกหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ในการจัดตั้งบริษัท โจทก์จึงมิใช่ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1114 และกรณีไม่ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องด้วยเหตุที่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 1114 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยในประการต่อมาว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด และฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความประกอบเอกสารถึงที่มาการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ซึ่งเริ่มต้นจากการโฆษณาชักชวนให้ลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยแบบ Land Banking มีรายละเอียดและลำดับเวลาชัดเจน นับตั้งแต่ปี 2548 ที่บริษัท ร. เผยแพร่เอกสารโฆษณาชักชวนให้นักลงทุนในประเทศญี่ปุ่นลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยการแสดงภาพแผนที่ประเทศไทย การเสนอผลประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนผ่านการซื้อหน่วยลงทุน (Unit) มีตราสัญลักษณ์กับทั้งระบุชื่อบริษัท ร. จนมีการทำสัญญาซื้อขาย (Purchase & Sale Agreement) ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ร. โดยบริษัท ม. และโจทก์ ในวันที่ 27 ตุลาคม 2548 จากนั้นมีการออกใบหุ้น จำเลยที่ 1 ระบุโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 จำนวน 5 หุ้น และจดแจ้งชื่อโจทก์ลงในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ โจทก์ไม่ได้ชำระค่าหุ้นให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เมื่อพิจารณาสัญญาซื้อขาย มีข้อความระบุชัดเจนว่า โจทก์ตกลงซื้อประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบรายได้ใด ๆ อันเกิดจากการขาย ให้เช่า หรือความตกลงใด ๆ ซึ่งคล้ายกันที่เกี่ยวกับที่ดิน ผ่านการจัดสรรหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยผู้ซื้อจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนของหุ้นดังกล่าวและสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่จะสร้างรายได้ด้วยการขาย ให้เช่าหรือการทำความตกลงใด ๆ สัญญาระบุประโยชน์ตอบแทนอันเกิดจากสัญญา (Consideration) ว่า โจทก์ตกลงซื้อ Preferential share units ในบริษัทจำเลยที่ 1 จำนวน 5 หน่วย ซึ่งเท่ากับ 5 หน่วย ในทรัพย์สินของบริษัทจำเลยที่ 1 และเพื่อตอบแทนการลงทุนของโจทก์ ผู้ขายตกลงให้ประโยชน์ตอบแทนจากรายได้ซึ่งเกิดขึ้นจากการขาย ให้เช่าหรือความตกลงใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินซึ่งยังมิได้พัฒนาตามที่ระบุไว้ในเอกสาร A ท้ายข้อตกลง และระบุผลประโยชน์เหนือทรัพย์สินตามสัญญา (Interest in the Asset) ว่า สิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จะนำไปจดทะเบียนต่อกรมที่ดิน และประโยชน์ของโจทก์ในหน่วยลงทุนของจำเลยที่ 1 จะมีการจดแจ้งลงในเอกสารบริษัทโดยมีหลักฐานเป็นใบหุ้น (Share certificate) ข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่า โจทก์จะได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการพัฒนาที่ดินผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุน (Units) โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับรองการลงทุนและเข้าพัฒนาที่ดินตามวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญา เมื่อโจทก์ได้เข้าซื้อหน่วยลงทุนในการพัฒนาที่ดินแล้ว จำเลยที่ 1 จะจดแจ้งสิทธิในการได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนลงในเอกสารของบริษัทจำเลยที่ 1 และหลักฐานใบหุ้น อันมีลักษณะเป็นการต่างตอบแทน จึงมิใช่สัญญาสองฝ่ายที่โจทก์ในฐานะผู้ซื้อตกลงเข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิในบริษัทจำเลยที่ 1 จากบริษัท ร. ในฐานะผู้ขายเท่านั้น แต่สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายหน่วยลงทุนในการพัฒนาที่ดินซึ่งรวมผลประโยชน์ที่โจทก์จะได้รับจากการพัฒนาที่ดินของจำเลยที่ 1 และการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 เข้าด้วยกัน โดยมีบริษัท ร. กระทำการเสนอขายแทนจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นคู่สัญญากับโจทก์โดยตรงด้วย นอกจากนี้ พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจจดแจ้งโจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นและยื่นส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าวต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทอันเป็นการตอบแทนการลงทุนของโจทก์ ย่อมแสดงโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ได้ชำระเงินสำหรับหน่วยลงทุน (Units) พัฒนาที่ดินตามสัญญาดังกล่าวสมประโยชน์ของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงจดแจ้งรับรองสิทธิให้แก่โจทก์เป็นการต่างตอบแทน หากโจทก์มิได้ชำระเงินสำหรับหน่วยลงทุนดังกล่าว ย่อมไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะจดแจ้งโจทก์ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องใด ๆ กับจำเลยที่ 1 เข้าเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ส่วนเงินลงทุนที่โจทก์ชำระนั้น โจทก์นำสืบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากโจทก์ แสดงการโอนเงิน 8,732,750 เยน ให้แก่บริษัท ม. ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ทั้งยังอ้างส่งคำเบิกความนายริชาร์ด อดีตกรรมการและผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 กับทั้งเป็นกรรมการและผู้จัดตั้งบริษัท ม. และบริษัท ร. ในคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งของศาลชั้นต้นว่า นายริชาร์ดเป็นผู้ติดต่อหาลูกค้าในประเทศญี่ปุ่นในนามจำเลยที่ 1 เมื่อนายริชาร์ด ซึ่งเป็นผู้จัดตั้งและกรรมการของบริษัท ม. เป็นผู้หานักลงทุนในประเทศญี่ปุ่นให้แก่จำเลยที่ 1 การที่นักลงทุนซึ่งรวมถึงโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีบริษัท ม. ซึ่งนายริชาร์ดเป็นผู้จัดตั้งและเป็นกรรมการจึงเป็นเรื่องปกติของการลงทุนเพื่อเพิ่มความคล่องตัวทางธุรกิจในการนำส่งเงินลงทุนต่อให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งจะนำไปพัฒนาที่ดินในประเทศไทย ข้อนำสืบจำเลยที่ 1 และที่ 3 ส่วนนี้เจือสมให้พยานโจทก์เกี่ยวกับการโอนเงินลงทุนให้แก่จำเลยที่ 1 มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น พยานโจทก์เกี่ยวกับข้อตกลงและการโอนเงินลงทุนมีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เข้าร่วมลงทุนพัฒนาที่ดินในประเทศไทยผ่านการซื้อหน่วยลงทุน (Units) และเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขาย อันมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยชำระเงินลงทุนให้แก่จำเลยที่ 1 มีบริษัท ม. เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ในการรับชำระเงินลงทุนแล้ว 8,732,750 เยน คิดเป็นเงินไทย 2,672,221.50 บาท คดีคงมีข้อพิจารณาต่อไปว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงโจทก์หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 คัดชื่อโจทก์ออกจากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและไม่ทำการพัฒนาที่ดินรวมทั้งแบ่งผลประโยชน์อันเกิดจากการพัฒนาที่ดินให้แก่โจทก์ ซึ่งนายธนัท กรรมการจำเลยที่ 1 เบิกความรับว่า แม้จำเลยที่ 1 จะสร้างบ้าน 3 หลัง ที่ชายหาดทำรีสอร์ตให้ลูกค้าเข้ามาพักประมาณปี 2549 ในที่ดิน 9 แปลง เนื้อที่ 261 ไร่เศษ ที่ซื้อไว้เมื่อปี 2548 ก็ตาม แต่ปลายปี 2549 เกิดรัฐประหาร กิจการขาดทุน จึงหยุดกิจการในปี 2554 ปัจจุบันจำเลยที่ 1 ทำการเกษตรปลูกสับปะรดและทุเรียน และจำเลยที่ 3 ยังเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยที่ 3 ไปอยู่บนที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นบ้านพักคนงาน คนสวน มีบ้านปลูกสร้างอยู่ 3 หลัง เป็นบ้านร้าง ตามสภาพที่ดินและการประกอบการของจำเลยที่ 1 ดังพยานจำเลยที่ 1 และที่ 3 เบิกความ แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้ขวนขวายทำการพัฒนาที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 ซื้อไว้มีเนื้อที่กว้างถึง 261 ไร่เศษ ให้เหมาะสมและคุ้มค่ากับการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่โฆษณาระดมทุนและออกจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่ชาวต่างชาติในราคาสูงถึงหน่วยละ 534,444.30 บาท แต่อย่างใด เมื่อหนังสือโฆษณาชี้ชวนให้โจทก์เข้าร่วมลงทุนและสัญญาซื้อขาย กล่าวถึงการลงทุนพัฒนาที่ดินในประเทศไทยลักษณะ Land Banking โดยมีจำเลยที่ 1 ดูแลพัฒนาที่ดินและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่ได้รับจากการพัฒนา บริษัทผู้ทำการโฆษณาชี้ชวนมีข้อความคำว่า ทรัสต์ อยู่ในชื่อนิติบุคคลคือบริษัท ร. อันแสดงถึงรูปแบบการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีผู้ดูแลบริหารจัดการและจัดเก็บผลประโยชน์คืนแก่ผู้ลงทุน หรือทรัสต์ ตามความเข้าใจของบุคคลทั่วไป ตลอดจนการระบุประโยชน์ตอบแทนการลงทุนของโจทก์ (Consideration) ว่า ผู้ขายตกลงให้โจทก์ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากรายได้ในการขาย ให้เช่าหรือความตกลงใด ๆ ซึ่งคล้ายกันที่เกี่ยวกับที่ดิน กับข้อตกลงที่ระบุในสัญญาซื้อขายว่า ประโยชน์ของโจทก์ในหน่วยลงทุนของจำเลยที่ 1 จะมีการจดแจ้งลงในเอกสารบริษัทโดยมีหลักฐานเป็นใบหุ้น (Share certificate) ล้วนแสดงว่าจำเลยที่ 1 ผู้ดูแลจัดการและบริหารที่ดินต้องกระทำการพัฒนาที่ดินตามความสามารถและวิชาชีพของผู้ดูแลจัดการบริหารอสังหาริมทรัพย์ เพื่อแสวงประโยชน์นำมาจัดสรรให้แก่ผู้ลงทุนต้องจดแจ้งให้ปรากฏซึ่งหลักฐานการรับรองสิทธิของโจทก์ในเอกสารของบริษัท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการพัฒนาที่ดินดังกล่าว ทั้งยังคัดชื่อโจทก์ออกจากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ในขณะทำสัญญาซื้อขายพิพาท ยังเป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจำเลยที่ 1 กับทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายพิพาท และยังเป็นผู้จัดให้จำเลยที่ 3 ลงนามรับรองใบหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ส่งมอบเป็นหลักฐานแก่โจทก์ เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทซึ่งมีทุนจดทะเบียนสูงถึง 65,000,000 บาท นับเป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ ทำการเสนอขายหน่วยลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยคิดเป็นเงินลงทุนจำนวนมากแก่ชาวต่างชาติหลายราย แต่กลับไม่ปรากฏการดำเนินธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างชัดเจนในประเทศไทย และไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 1 มีกรรมการผู้มีอำนาจหรือบุคคลธรรมดารายอื่นเกี่ยวข้องกระทำการใดต่อบุคคลภายนอกเว้นแต่จำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับนักลงทุนซึ่งเข้าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าว น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 2 ตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นเพื่อหลอกลวงเงินลงทุนจำนวนมากจากชาวต่างชาติ โดยไม่มีเจตนาดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จริงตามที่ระบุในเอกสารโฆษณาชี้ชวนและสัญญาซื้อขายและเป็นการกระทำเพื่อแสวงประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 โดยตรง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการหลอกลวงโจทก์ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น แม้จะอ้างว่ามิได้ร่วมรู้เห็นถึงการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพี่เขย แต่จำเลยที่ 3 เข้าลงชื่อในใบหุ้นที่จำเลยที่ 2 นำมาให้แล้วจำเลยที่ 2 นำไปส่งมอบแก่โจทก์อันเป็นส่วนหนึ่งในการหลอกลวงเงินลงทุนจากโจทก์ ข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษที่ระบุในใบหุ้นนั้น จำเลยที่ 3 กลับยินยอมลงชื่อในเอกสารที่ตนไม่เข้าใจ ผิดปกติวิสัยของวิญญูชน จำเลยที่ 3 พักอาศัยอยู่ในที่ดินอันเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยที่ 1 นำไปใช้ในการหลอกลวงนักลงทุน ทั้งยังเป็นผู้ดูแลที่ดินและรับเงินค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 อันแสดงว่าจำเลยที่ 3 ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย การหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องไม่อาจบรรลุผลให้โจทก์หลงเชื่อได้โดยสมบูรณ์หากปราศจากการแสดงหลักฐานใบหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 ลงชื่อรับรองในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจนั้น เชื่อว่า จำเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงโจทก์ ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 การที่โจทก์หลงเชื่อจากการหลอกลวงและทำสัญญาซื้อหน่วยลงทุนกับชำระเงินลงทุนให้แก่จำเลยทั้งสามโดยเข้าใจว่าจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยตามหนังสือโฆษณาชี้ชวนดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเป็นกรณีที่โจทก์แสดงเจตนาลงทุน โดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 มีผลเท่ากับการซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวมิได้เกิดมีขึ้น จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตามมาตรา 172 วรรคสอง โดยต้องคืนเต็มจำนวนตามมาตรา 412 ดังนั้นโจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามคืนเงินลงทุนเต็มจำนวน และเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาเงินลงทุนคืนตามมาตรา 1336 ไม่มีอายุความ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยทั้งสามให้ชำระเงินลงทุนคืนเมื่อไร จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันคืนเงิน 2,672,221.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 7 (เดิม) และมาตรา 7 (ที่แก้ไขใหม่) ที่ศาลล่างทั้งสองยกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,672,221.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 สิงหาคม 2560) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 200,000 บาท