โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 137, 267, 268 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 4, 14
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 268 วรรคสอง พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 4, 14 (1) (2) (3) วรรคสอง พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2542 มาตรา 6 จัตวา, 8 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2554 มาตรา 11 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2554 มาตรา 11 ประกอบพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 วรรคสอง จำเลยกระทำความผิดสองกระทงให้ลงโทษกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 (เดิม), 267 (เดิม) พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) (ที่แก้ไขใหม่) ให้ลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 (ที่แก้ไขใหม่) รวมสองกระทงเรียงกระทงลงโทษและลดโทษกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า คำฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมิได้มีสัญชาติไทยได้แจ้งข้อความต่อนางจันทร์ลี และนางสาววรรณา ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยชื่อนายสงกรานต์ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนเลขที่ 3 5018 00141 xx x บิดาชื่อ นายจะเมย มารดาชื่อ นางหลิวา เพื่อให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวลงในแบบทะเบียนราษฎร อันเป็นเอกสารราชการเพื่อขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตรเก่าที่ชำรุด และบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งมีชื่อนายสงกรานต์ เป็นเอกสารราชการที่จำเลยปลอมขึ้น เป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งบทมาตราดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าการกระทำอันเป็นความผิดต้องเป็นการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรกเท่านั้น คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองว่า การพิจารณาและพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาในวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 ศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และสอบถามคำให้การแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนการตรวจพยานหลักฐานและสอบคำให้การไปในวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ก็ตาม แต่ก็ไม่จำต้องอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และสอบถามคำให้การซ้ำอีก ส่วนที่จำเลยยื่นคำให้การฉบับลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธแล้วให้การใหม่เป็นรับสารภาพนั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าสำเนาให้โจทก์ รับเป็นคำให้การของจำเลย อันมีผลเป็นการอนุญาตให้จำเลยถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ และจำเลยให้การใหม่เป็นรับสารภาพ โดยมิต้องสอบถามคำให้การดังกล่าวต่อหน้าโจทก์จำเลยอีก เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ และจำเลยให้การรับสารภาพนั้น กฎหมายมิได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลจึงพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นไม่สั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนพิพากษานั้น เป็นดุลพินิจของศาลเมื่อเห็นว่าการสืบเสาะและพินิจไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาและพิพากษา เนื่องจากจำเลยได้ให้ข้อเท็จจริงตามคำร้องประกอบคำให้การรับสารภาพเพียงพอแล้ว หาใช่ว่าศาลจำต้องสั่งให้มีการสืบเสาะพินิจจำเลยทุกกรณีไปไม่ การพิจารณาและพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อที่สามว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวหรือสองกรรม เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานปลอมบัตรประจำตัวประชาชน แต่ฟ้องว่าจำเลยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน (เปลี่ยนบัตรกรณีบัตรเก่าชำรุด) ด้วยการแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริง และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในแบบทะเบียนราษฎรอันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ดังนั้น การนับอายุความมิได้เริ่มนับตั้งแต่ปี 2541 เพราะเป็นการกระทำต่างวาระกัน จึงเป็นความผิดต่างหากจากกัน เมื่อความผิดตามฟ้องเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2554 และวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 ความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีอายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 วรรคแรก (3) โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 จึงยังไม่ขาดอายุความ แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีอายุความห้าปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 วรรคแรก (4) การกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2554 นับถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 จึงขาดอายุความแล้ว แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 ส่วนการกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 นับถึงวันฟ้องยังไม่เกินห้าปี จึงยังไม่ขาดอายุความ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าการกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมต่างวาระกัน จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังยุติว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรม มิใช่กรรมเดียว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า สมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี จึงหนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษให้เบาลงกว่านี้ ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยนั้น เห็นว่า การกระทำผิดของจำเลยมีเจตนามุ่งใช้บัตรประจำตัวประชาชนที่ไม่ใช่ของจำเลย อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูลบุคคลทางทะเบียนราษฎรซึ่งกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศ พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน ฎีกาจำเลยข้ออื่นไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดี จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 2 ปี ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 สำหรับความผิดที่ได้กระทำเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2554 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8