โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 360, 362, 365 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 21, 40, 42, 43, 47 ทวิ, 65, 66 ทวิ, 67 และปรับจำเลยเป็นรายวัน วันละไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 8 ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า จำแลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) (2), 108 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 12,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและให้จำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินของรัฐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมนายดล บิดาจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินในท้องที่หมู่ที่ 1 (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 7) ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวา โดยแจ้งทางอำเภอว่าเข้าครอบครองมาตั้งแต่ปี 2487 ตามสำเนาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ระบุว่าทิศใต้จดทะเล ต่อมาปี 2505 นายดลขอออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) มีเนื้อที่ 3 ไร่ 62 ตารางวา ระบุว่าทิศใต้จดทะเล และเมื่อปี 2530 นายดลขอออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) มีเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา แต่ระบุว่าทิศใต้จดถนนสาธารณประโยชน์ ต่อมาปี 2540 นายดลถึงแก่ความตาย จำเลยรวมทั้งพี่น้องอีก 9 คน จดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงนี้มาทางมรดก ครั้นปี 2549 เทศบาลตำบลป่าคลอกได้ขึ้นทะเบียนพัสดุที่ดินและสิ่งก่อสร้างสำหรับที่ดินชายทะเลไว้ เพื่อปรับปรุงเขื่อนหินกันตลิ่งพัง วันที่ 12 ตุลาคม 2558 นายยุทธพงศ์ นิติกรเทศบาลตำบลป่าคลอก และนายนันยะรูน ช่างโยธาเทศบาลตำบลป่าคลอก กับพวก ออกตรวจสอบการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และความผิดอื่นในเขตท้องที่ดังกล่าว พบว่าสิ่งปลูกสร้างของจำเลย เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว กว้าง 7 เมตร ยาว 17.50 เมตร หลังคามุงสังกะสี อยู่ติดชายทะเล (อ่าวยามู) ไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร จึงรายงานให้นายปัณยา นายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอกทราบ หลังจากนั้นเดือนมีนาคม 2559 นายปัณยาร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นคดีนี้ รวมทั้งให้ดำเนินคดีแก่นายสมพงศ์ และนายชาญชัย ซึ่งกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีก 2 คน สำหรับข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น โจทก์ไม่ฎีกา เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครองที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า ในข้อนี้แม้จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่นายดลบิดาจำเลยครอบครองมาก่อนโดยมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 และ น.ส.3 ก.) เป็นหลักฐานก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะนายดลขอออก น.ส.3 ก. เมื่อปี 2530 ที่ดินที่นายดลครอบครองอยู่ ด้านทิศใต้มิได้จดทะเลดังที่เคยระบุไว้ใน ส.ค.1 และ น.ส.3 กลับระบุว่า ทิศใต้จดถนนสาธารณประโยชน์ ซึ่งจำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่า เมื่อปี 2512 มีการบริจาคที่ดินทางทิศใต้ให้แก่ทางราชการเพื่อสร้างถนนจริง ดังนั้น จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า หลังจากนายดลบริจาคที่ดินทางด้านทิศใต้เพื่อสร้างถนนสาธารณประโยชน์แล้ว ทำให้ที่ดินที่นายดลครอบครองอยู่เดิมไม่ติดทะเลอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ จึงมีการระบุไว้ใน น.ส.3 ก. ว่า ทางทิศใต้ของที่ดินจดถนนสาธารณประโยชน์ ซึ่งนายสิทธิชัย อดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต สาขาถลาง พยานโจทก์ เบิกความยืนยันว่า จากการตรวจสอบแผ่นระวางหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และภาพถ่ายทางอากาศพร้อมกับเอกสารในสารบบแล้ว การออกเอกสารสิทธิที่ดินแปลงนี้เป็นการออกโดยมีอาณาเขตครอบคลุมเนื้อที่ของหลักฐานเดิมในขณะที่ถนนตัดผ่านแล้ว อันเป็นการสอดคล้องกับรูปที่ดินใน น.ส.3 ก. อีกทั้งยังสอดคล้องกับแผนที่โดยสังเขป ซึ่งระบุว่า อาคารของจำเลยอยู่ตรงตำแหน่งหมายเลข 1 โดยอยู่ทางทิศใต้ของถนนสาธารณประโยชน์ทางหลวงชนบท (สายบ้านผักฉีด - บ้านยามู) ความข้อนี้ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าภายหลังจากนายดลบริจาคที่ดินทางทิศใต้ให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ในปี 2512 แล้ว เมื่อขอออก น.ส. 3 ก. ในปี 2530 ที่ดินของนายดลด้านทิศใต้จึงไม่ได้ติดทะเลอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาบันทึกข้อความรายงานการรังวัดที่ดินเพื่อออก น.ส. 3 ก. เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2529 แนบท้ายคำแถลงการณ์ปิดคดีของจำเลย หมายเลข 2 แผ่นที่ 4 ประกอบแล้ว นายธงชัย นายช่างรังวัดได้ระบุไว้ว่า ทิศใต้เดิมจดทะเล ปัจจุบัน (ขณะรังวัด) จดถนนสาธารณประโยชน์ เนื่องจากได้มีการตัดถนนเลียบชายทะเลในภายหลังยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ที่ดินที่นายดลครอบครองอยู่ทางทิศใต้ไม่ได้จดทะเลอีกต่อไป ดังนั้น ที่ดินชายทะเลที่อยู่ทางทิศใต้ของถนนสาธารณประโยชน์ดังกล่าว จึงเป็นที่ดินนอกเขต น.ส.3 ก. ของนายดล และถือเป็นที่ดินของรัฐ ประเภทสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เมื่อจำเลยได้รับส่วนแบ่งมรดกที่ดินมาจากนายดล จึงมีสิทธิครอบครองได้เฉพาะที่ดินภายในเขต น.ส. 3 ก. ดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ชายทะเล และอยู่นอกเขต น.ส. 3 ก. ข้อที่จำเลยฎีกาโต้เถียงว่า ที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ในเขต น.ส. 3 ก. ของฝ่ายจำเลย เป็นการกล่าวอ้างที่ขัดกับพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน ไม่มีน้ำหนักแก่การรับฟัง ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 นั้น ล้วนเป็นข้อปลีกย่อย อีกทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้วินิจฉัยพร้อมแสดงเหตุผลประกอบไว้โดยละเอียดแล้ว ศาลฎีกาไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก จากเหตุผลดังที่วินิจฉัยมา ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า อาคารของจำเลยที่ปลูกสร้างอยู่ชายทะเล อยู่ในเขตสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันจริงตามฟ้อง ที่จำเลยอ้างว่านายปัณยามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงกลั่นแกล้งร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย นั้น เห็นว่า เหตุที่นายปัณยาร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย เนื่องจากนายยุทธพงศ์ นิติกรเทศบาลตำบลป่าคลอก และนายนันยะรูน นายช่างโยธาเทศบาลตำบลป่าคลอก ตรวจสอบพบว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ และบุกรุกที่ดินของรัฐ โดยมีพยานหลักฐานประกอบชัดเจน จึงรายงานให้นายปัณยา นายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก ผู้รับผิดชอบทราบ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย หาใช่เป็นการร้องทุกข์ที่เลื่อนลอยไม่ อีกทั้งได้ความว่ายังมีการร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่นายสมพงษ์และนายชาญชัยซึ่งกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันด้วย มิใช่เป็นการเจาะจงดำเนินคดีแก่จำเลยเพียงคนเดียว ตามรูปคดีไม่มีเหตุให้น่าระแวงสงสัยว่าเป็นการกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยโดยปราศจากความจริง พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ไม่อาจนำมาเทียบเคียงได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาประการต่อมาว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยออกจากที่ดินที่เกิดเหตุภายในระยะเวลาที่กำหนด ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 วรรคหนึ่ง เสียก่อน อีกทั้งคดีนี้ยังไม่มีการเวนคืนที่ดินให้แก่รัฐ หรือมีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดิน ตามมาตรา 5 และมาตรา 6 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) (2), 108 ทวิ ได้ นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ชายทะเล และอยู่นอกเขต น.ส.3 ก. ของนายดล บิดาจำเลย โดยไม่ปรากฏว่าบุคคลใดมีเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าว จึงถือว่าเป็นที่ดินของรัฐ กรณีไม่จำต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 วรรคหนึ่ง หรือต้องมีการเวนคืนให้ที่ดินตกมาเป็นของรัฐ หรือร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเสียก่อน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้โดยชอบ ที่จำเลยฎีกาต่อมาว่า หลังจากจำเลยได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคาร ระหว่างจำเลยใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 52 นายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอกยังไม่มีอำนาจร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) (2), 108 ทวิ ได้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน นั้น เห็นว่า การใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น เป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 52 วรรคห้า ซึ่งบัญญัติว่า ในระหว่างอุทธรณ์ ไม่ให้ผู้อุทธรณ์หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นกระทำการใดแก่อาคารอันเป็นมูลกรณีแห่งการอุทธรณ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการดำเนินคดีในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) (2), 108 ทวิ โดยชอบ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและให้จำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินของรัฐเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น เห็นว่า แม้โจทก์มิได้มีคำขอส่วนนี้มาท้ายฟ้อง แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางพิจารณาว่า นอกจากจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 แล้ว ยังกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) (2), 108 ทวิ วรรคสอง โดยมีสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารพักอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งเป็นการเข้าไปยึดถือ ครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ดังนั้น ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และให้จำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินของรัฐได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ โดยไม่จำต้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งอีกต่างหาก เพราะเป็นการบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั่นเอง หาใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาในส่วนนี้มาจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน