โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ 5,680,037.94 บาท โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเงิน 5,540,037.94 บาท ให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระเงิน 4,248,107.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวจนกว่าจำเลยทั้งหกจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินค่าจ้างที่ค้างชำระตามสัญญาที่ 1 และที่ 2 และตามสัญญาจ้างสำหรับการทำงานที่จังหวัดยโสธรและเชียงราย รวมเป็นเงิน 2,943,564.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยที่ 3 ขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 และที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ 4,140,083.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 กันยายน 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 (ที่ถูก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ให้เป็นพับ) ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฏีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้โดยที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างทุกชนิด และรับเหมาติดตั้งงานระบบเครือข่ายโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 จำเลยที่ 3 จดทะเบียนก่อตั้งนิติบุคคลจำเลยที่ 1 โดยใช้ชื่อจำเลยที่ 3 เป็นชื่อห้าง และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2558 จำเลยที่ 3 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการร่วมกับจำเลยที่ 3 และวันที่ 8 เมษายน 2559 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้จำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ คงเหลือจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเพียงผู้เดียว โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ทำงาน และร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 3 ในการทำงานรวม 3 สัญญา สัญญาที่ 1 เมื่อต้นปี 2557 ว่าจ้างให้ติดตั้งระบบเครือข่ายโทรคมนาคมในจังหวัดยโสธร ชัยนาท พะเยา ตาก แม่ฮ่องสอน สุโขทัย และน่าน ซึ่งเป็นงานที่โจทก์รับจ้างมาจากบริษัท ท. โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าให้จำเลยที่ 3 ไป 9,526,738.81 บาท แต่จำเลยที่ 3 ผิดสัญญาละทิ้งงานไปไม่ทำงานให้แล้วเสร็จ จนโจทก์ต้องเข้าทำงานต่อจนแล้วเสร็จ ระหว่างการทำงานจำเลยที่ 3 ขอให้โจทก์จัดหาวัสดุและสำรองจ่ายค่าวัสดุที่ใช้ในการทำงานแทนจำเลยที่ 3 ไปก่อน ซึ่งต้องชำระคืนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 7,500,000 บาท ปริมาณงานที่จำเลยที่ 3 ทำเสร็จไปคิดเป็นเงินค่าจ้างหลังจากหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว เป็นเงิน 13,700,721.35 บาท สัญญาที่ 2 เมื่อเดือนเมษายน 2557 ว่าจ้างติดตั้งระบบเครือข่ายโทรคมนาคมในจังหวัดลำปาง น่าน และเชียงรายซึ่งเป็นงานที่โจทก์รับจ้างมาจากบริษัท ท. โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าให้จำเลยที่ 3 ไป 1,578,050 บาท แต่จำเลยที่ 3 ทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จนโจทก์ต้องเข้าแก้ไขและทำงานต่อจนแล้วเสร็จ จำเลยที่ 3 ต้องคืนสายเคเบิลราคา 279,296.75 บาท แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 3 ไม่คืนให้ ในระหว่างการทำงานจำเลยที่ 3 ขอให้โจทก์จัดหาวัสดุและสำรองจ่ายค่าวัสดุที่ใช้ในการทำงานแทนจำเลยที่ 3 คิดเป็นเงิน 600,000 บาท ปริมาณงานที่จำเลยที่ 3 ทำเสร็จไปคิดเป็นเงินค่าจ้างหลังจากหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วเป็นเงิน 2,263,280.63 บาท สัญญาที่ 3 เมื่อเดือนมกราคม 2558 โจทก์ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 3 ในงานที่จำเลยที่ 3 รับจ้างเปลี่ยนแปลงสายเคเบิล พาวเวอร์ซัพพลาย แอมป์ ระบบสายดินและระบบเครือข่ายโทรคมนาคมให้แก่ บริษัท ท. โดยจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนในการร่วมลงทุนเป็นเงิน 1,300,000 บาท แต่จำเลยที่ 3 ผิดสัญญาไม่ชำระเงินให้ตามที่ตกลงกันโดยค้างชำระเป็นเงิน 140,000 บาท จำเลยที่ 3 นำจำเลยที่ 1 มาร่วมทำงานรับจ้างกับโจทก์และร่วมลงทุนกับโจทก์ตามสัญญาทั้งสามสัญญา สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ต่อโจทก์ และคดีในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์และจำเลยที่ 3 ไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ตกลงเข้าร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำงานรับจ้างให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะคู่สัญญากับโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 3 ตามสัญญาจ้างอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาที่ 1 โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ตั้งแต่ต้นปี 2557 ความรับผิดของจำเลยที่ 3 จึงเกิดขึ้นนับแต่เวลาดังกล่าวเป็นต้นมา แม้จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนก่อตั้งขึ้นภายหลังจากโจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 3 แล้วก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่มีต่อโจทก์จำกัดอยู่เฉพาะหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 1 โดยหักเงินค่าจ้างล่วงหน้าตามสัญญาที่ 1 ที่มีการจ่ายเงินก่อนวันที่ 23 เมษายน 2557 ออกจากเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 3 รับไป และหักเงินค่าจัดหาวัสดุ และค่าวัสดุที่โจทก์ออกทดรองแทนจำเลยที่ 3 ไป ก่อนวันที่ 23 เมษายน 2557 ออกจากเงินที่ต้องรับผิดตามสัญญาที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการมิชอบ สำหรับเงินค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องแก้ไขงานจนแล้วเสร็จตามสัญญาที่ 1 ที่โจทก์เรียกร้องมาจำนวน 110,000 บาท ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่กำหนดให้นั้น โจทก์มีนายพรสหภัส ผู้จัดการโจทก์มาเบิกความยืนยันค่าใช้จ่ายดังกล่าว แม้ตามตารางสรุปงานจะระบุว่าเป็นค่าจัดทำเอกสารที่ไม่ตรงกัน ซึ่งอาจเป็นเพราะความผิดพลาดในการจัดทำเอกสาร การที่จำเลยที่ 3 ละทิ้งงานไปไม่ทำงานให้แล้วเสร็จจนโจทก์ต้องเข้ามาทำงานแก้ไขต่อนั้นโจทก์ย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำงานเกิดขึ้น ทั้งจำเลยที่ 3 ก็มิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น และเมื่อพิจารณาถึงปริมาณงานตามสัญญาที่มีค่าจ้างจำนวนมากกว่าสิบล้านบาทแล้ว ค่าใช้จ่ายจำนวน 110,000 บาท ที่โจทก์เรียกร้องมานั้นนับว่าเหมาะสมแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อคิดหักความรับผิดตามสัญญาที่ 1 จำเลยที่ 3 ต้องชำระเงินคืนแก่โจทก์ 3,406,017.81 บาท สำหรับงานตามสัญญาที่ 2 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องแก้ไขซ่อมแซมงานเป็นเงิน 130,765 บาท ค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคคลอื่นทำแบบแนวสายเคเบิลเป็นเงิน 100,000 บาท และค่าสายเคเบิลที่ต้องคืนเป็นเงิน 279,296.75 บาท ซึ่งรวมเป็นเงิน 510,061.75 บาท แต่โจทก์นำสืบค่าเสียหายที่ถูกบริษัทผู้ว่าจ้างหักเงินค่าจ้าง 275,528 บาท เพิ่มเข้ามา ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายแก้ไขงานกับที่โจทก์ถูกหักค่าจ้าง และเสียค่าใช้จ่ายในการทำแบบแนวสายเคเบิล โดยกำหนดค่าเสียหาย 3 ส่วนนี้เป็นเงิน 400,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับค่าสายเคเบิลจำนวน 279,296.75 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แล้ว ค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 3 รับผิดเป็นจำนวน 679,296.75 บาท จึงเกินไปกว่าที่โจทก์ฟ้อง อันเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง และโจทก์หาอาจเรียกค่าเสียหายในส่วนที่กำหนดเกินไปจากคำฟ้องได้ โจทก์คงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้เพียง 230,765 บาท โดยเป็นค่าแก้ไขงาน 130,765 บาท และค่าทำแบบแนวสายเคเบิล 100,000 บาท เมื่อรวมกับค่าสายเคเบิลที่ต้องคืน 279,296.75 บาท และค่าจัดหาและสำรองเงินค่าวัสดุอีก 600,000 บาท แล้ว จำเลยที่ 3 ต้องคืนเงินและชำระค่าเสียหายรวม 1,110,061.75 บาท ซึ่งเมื่อนำมาหักกับเงินค่าจ้างที่โจทก์ค้างชำระ 685,230.63 บาท แล้ว จำเลยที่ 3 คงต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ 424,831.12 บาท เมื่อรวมความรับผิดตามสัญญาที่ 1 จำนวน 3,406,017.81 บาท และตามสัญญาที่ 3 จำนวน 140,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แล้ว รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิด 3,970,848.93 บาท เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยทำงานไม่แล้วเสร็จ และไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ให้ครบถ้วนตามสัญญาร่วมลงทุน จึงต้องรับผิดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ข้อความที่บัญญัติขึ้นใหม่แทน ซึ่งมีผลให้กรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน และมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละสามต่อปี และกรณีหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยในค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ 3,970,848.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 2 กันยายน 2559) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5