โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมประเภทการจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกทั้งหกแปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 7160, 8111, 7174, 7159, 21409 และ 21308 ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางมากับนายสมัน และระหว่างนายสมันกับจำเลยทั้งแปด รวมทั้งนิติกรรมใด ๆ ที่จำเลยทั้งแปดกระทำขึ้นทั้งหมด โดยให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันหรือแทนกันเสียค่าธรรมเนียม และห้ามจำเลยทั้งแปดกับบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกและหรือจำเลยทั้งแปดส่งมอบที่ดินในสภาพเรียบร้อยปลอดจากภาระผูกพันใด ๆ ให้แก่โจทก์ทั้งสาม และจดทะเบียนโอนแบ่งแยกที่ดินมรดกทั้งหกแปลง ออกเป็น 9 ส่วนเท่า ๆ กัน ให้แก่โจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่งคนละ 1 ใน 9 ส่วน ให้จำเลยทั้งแปดส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยทั้งแปดไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งแปด และหากไม่สามารถแบ่งปันและส่งมอบที่ดินได้ให้นำที่ดินทั้งหกแปลงออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันตามส่วน กับขอให้กำจัดจำเลยทั้งแปดมิให้รับมรดกของนางมา
จำเลยทั้งแปดให้การขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความขอให้จำเลยทั้งแปดแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องสอดทั้งสองตามส่วน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดทั้งสองเข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)
จำเลยทั้งแปดยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดขอให้ยกคำร้องสอด
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 2 และผู้ร้องสอดที่ 2 ถึงแก่ความตาย นางสาวพัชรา ทายาทของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 2 และนางสาวมะลิกา ทายาทของผู้ร้องสอดที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้ร้องสอดที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 3 ขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และผู้ร้องสอดทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันหรือแทนกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 8111 เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ให้แก่โจทก์ที่ 2 และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 21409 ตามอาณาเขตที่โจทก์ที่ 2 ครอบครองปลูกบ้านเนื้อที่ประมาณ 1 งาน ให้แก่โจทก์ที่ 2 หากจำเลยทั้งแปดไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งแปด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และผู้ร้องสอดทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสาม ผู้ร้องสอดทั้งสอง นายสมัน นายประจักษ์ นางสงวน และนางสาวสายันต์ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันโดยเป็นบุตรของนายบุญเพ็ง นายบุญเพ็งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางหรือนางสาวมา ผู้ตาย นางสาวจันทร์ และนางสาวนี โดยเป็นบุตรของนายสี กับนางปาน ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว นางสาวจันทร์ถึงแก่ความตายเมื่อประมาณปี 2515 โดยไม่มีคู่สมรสและบุตร นางสาวนีถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2535 โดยไม่มีคู่สมรสและบุตร นายบุญเพ็งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2541 จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของนายสมัน ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 8 เป็นบุตรของนายสมันกับจำเลยที่ 2 ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2546 โดยไม่มีคู่สมรสและบุตร และไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ใดหรือตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 6 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 7160, 8111, 7174, 7159, 21409 และ 21308 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ ภายหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย นายสมันได้ขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แล้วจดทะเบียนใส่ชื่อนายสมันในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายในโฉนดที่ดินทั้งหกแปลงดังกล่าว ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2556 นายสมันถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จึงขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แล้วจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายในโฉนดที่ดินทั้งหกแปลงดังกล่าว จากนั้นได้โอนใส่ชื่อนายสมันเป็นผู้รับมรดก และจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7174 และ 7159 มาเป็นของจำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7160 มาเป็นของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 8111 มาเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 8
ส่วนที่โจทก์ที่ 1 และผู้ร้องสอดทั้งสองอ้างว่า หากผู้ตายยกที่ดินพิพาทให้แก่นายสมันตั้งแต่ก่อนถึงแก่ความตายแล้วย่อมต้องดำเนินการจดทะเบียนให้เรียบร้อยแต่ก็ไม่ปรากฏ เห็นว่า นอกจากผู้ตายจะยกที่ดินให้แก่นายสมันแล้ว ยังได้ยกที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ด้วย ซึ่งก็มิได้มีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนแต่อย่างใด การที่ไม่มีการจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่นายสมันก็ยังไม่ถึงกับเป็นเหตุให้รับฟังได้ว่า ผู้ตายมิได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่นายสมัน ส่วนการที่นายสมันและจำเลยที่ 1 ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยระบุว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของผู้ตายนั้น ก็ไม่อาจรับฟังเป็นที่ยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน ทั้งจำเลยทั้งแปดก็อ้างว่า เหตุที่ไปขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็เพื่อความสะดวกในการจดทะเบียนซึ่งนับว่ามีเหตุผลอยู่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า หลังจากที่นายบุญเพ็งแบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ผู้ร้องสอดทั้งสองและบุตรคนอื่นหมดแล้ว ไม่มีที่ดินเหลือที่จะแบ่งให้แก่นายสมันและโจทก์ที่ 3 จึงไปขอให้ผู้ตายแบ่งที่ดินให้แก่นายสมันกับโจทก์ที่ 3 ผู้ตายจึงแบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 บางส่วน และยกที่ดินพิพาทให้แก่นายสมัน หลังจากนั้น นายสมันได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อมาอย่างเป็นเจ้าของโดยที่ทายาทอื่นของผู้ตายไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง การครอบครองที่ดินพิพาทของนายสมันและจำเลยทั้งแปดซึ่งเป็นทายาทของนายสมัน จึงเป็นการครอบครองเพื่อตนมิใช่เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น กรณีมิใช่การครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 และผู้ร้องสอดทั้งสองฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และผู้ร้องสอดทั้งสองต่อไปว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายสมันกับจำเลยทั้งแปดครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของโดยการยกให้จากผู้ตายมิได้เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นแล้ว จึงมิใช่เป็นกรณีที่ทายาทครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน กรณีจึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความมรดกหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และผู้ร้องสอดทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ