โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อระหว่างต้นปี 2534 ถึงปลายปี 2535 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองและผู้ดำเนินการก่อสร้างได้ก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นจำนวน 2 อาคาร ต่อมานายกเทศมนตรีตำบลปากช่องได้มีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างต่อเจ้าพนักงานและมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยใช้หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้อาคารดังกล่าว จำเลยฝ่าฝืนขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 21, 40,41, 65, 67, 70, 71 และปรับจำเลยเป็นรายวันตามกฎหมายจนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 21, 40, 41, 65, 67, 70, 71 และปรับจำเลยเป็นรายวันตามกฎหมายจนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำร้องของเจ้าพนักงานท้องถิ่น อันมีบทลงโทษตามมาตรา 65 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 67 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนมาตรา 70 ของบทบัญญัติดังกล่าวก็เป็นเพียงเมื่อพฤติการณ์พิเศษตามกฎหมายบัญญัติไว้ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 นั้น ก็หาได้บัญญัติถึงบทบัญญัติแห่งอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 ซึ่งให้นำบทบัญญัติในภาค 1แห่งประมวลกฎหมายนี้ไปใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย อันต้องด้วยบทบัญญัติแห่งอายุความมาตรา 95 บัญญัติว่าในคดีอาญาถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ (4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี (5)หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่นตามคำฟ้องที่ได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว โจทก์ได้บรรยายฟ้องในข้อ (ก) และ (ข) ว่า เมื่อระหว่างต้นปี 2534 ถึงปลายปี 2535 ถึงเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองและผู้ดำเนินการก่อสร้างได้บังอาจกระทำความผิดตามกฎหมายดังโจทก์ฟ้อง แต่เมื่อศาลเรียกสำนวนการสอบสวนจากโจทก์มาเพื่อประกอบการพิจารณาอันชอบที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้กลับปรากฏว่าคำให้การพยานโจทก์ทุกปากในชั้นสอบสวนให้การว่าอาคารพิพาทมีการปลูกสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2532 ถึง 2535 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ไม่ตรงกับที่มาเบิกความในชั้นศาล ประกอบกับทั้งคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานทุกปากต่างให้การทันทีที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด ยังมีโอกาสปรุงแต่ความคิดเป็นอื่นได้ทันเชื่อว่าต้องให้การเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณา ดังนั้น เมื่อพยานโจทก์ต่างก็เป็นเจ้าพนักงานแห่งรัฐในท้องถิ่นต่างเริ่มรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้วตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นไป อายุความในทางกฎหมายจำต้องเริ่มนับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป เมื่อฐานความผิดที่โจทก์ฟ้องต้องมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินหนึ่งปีแม้จะมีโทษปรับเป็นรายวันตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องก็ตาม ก็เป็นเพียงการต้องระวางโทษอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4)(5) ตามลำดับเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้ฟ้องและนำตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลในวันที่ 21 ธันวาคม 2538 เป็นเวลากว่า 6 ปี นับแต่วันทราบเรื่องแห่งการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความดังกล่าว จึงหาจำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า เมื่อระหว่างปี 2532 ถึงปี 2535 จำเลยได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน 2 อาคาร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต่อมาโจทก์ฟ้องและได้นำตัวจำเลยมายังศาลในวันที่21 ธันวาคม 2538 มีปัญหาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 นั้น จะเกิดเป็นความผิดขึ้นเริ่มแต่วันทำการก่อสร้างอาคารติดต่อเนื่องกันไปจนถึงวันทำการก่อสร้างอาคารเสร็จ ดังนั้น อายุความฟ้องร้องจึงเริ่มนับถัดจากวันที่การก่อสร้างอาคารเสร็จลง ปรากฏว่าจำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปี 2535 การกระทำของจำเลยจึงเกิดเป็นความผิดเริ่มแต่ปี 2532 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2535 ซึ่งเป็นปีที่การก่อสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องจึงเริ่มนับถัดจากปี 2535 เป็นต้นไป เนื่องจากฐานความผิดที่โจทก์ฟ้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี อายุความฟ้องร้องจึงมีกำหนด 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 เมื่อโจทก์ฟ้องและได้ตัวจำเลยมาส่งศาลในวันที่ 21ธันวาคม 2538 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น และเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นอื่นที่เหลือต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี"
พิพากษากลับ ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นอื่นที่เหลือต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี