โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงิน 6,236,856.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,516,515.84 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 6 พิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน 820,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 20 ธันวาคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้อุทธรณ์บางส่วนของโจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 6 ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อศาลแรงงานภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้จัดการสหกรณ์โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินกู้ได้ นางนัยนา ป้อนข้อมูลการซื้อหุ้นของนางประกอบ และนายกก อันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของโจทก์ ปลอมคำขอกู้เงินสามัญประเภทกู้หุ้นและหนังสือกู้สำหรับเงินกู้สามัญของนางประกอบ และนายกก จำเลยที่ 1 จ่ายเงินกู้ให้นางนัยนา เพราะเชื่อในกลอุบายของนางนัยนา ที่ซื้อหุ้นและขอกู้ในคราวเดียวกัน โดยเชื่อและไว้วางใจนางนัยนา จึงไม่ตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจหรือหนังสือมอบฉันทะให้รับเงินแทน แล้วจ่ายเงินกู้เป็นเงินสด ซึ่งระเบียบของโจทก์ว่าด้วย การรับจ่าย และเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2550 ข้อ 26 (2) กำหนดว่า การจ่ายเงินเป็นจำนวนมากให้แก่สมาชิก หรือกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของโจทก์ ให้จ่ายเป็นเช็ค ยกเว้นถ้าผู้รับเงินประสงค์จะให้จ่ายเป็นเงินสด ขณะเกิดเหตุโจทก์มิได้ถือเคร่งครัดว่ากรณีดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำทุจริต จงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ว่าด้วย การรับจ่าย และเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2550 ข้อ 26 (2) อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานและเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่การที่โจทก์ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับการเงินเยี่ยงธนาคารไม่ได้วางหลักเกณฑ์การอนุมัติเงินกู้ให้รอบคอบและรัดกุม ไม่มีระบบการตรวจสอบที่ดีพอ ถือว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วย จึงกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งคดีเป็นประมาณเป็นเงิน 820,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนการที่จำเลยที่ 2 จ่ายเงินสดสมทบให้จำเลยที่ 1 ตามที่ขอเบิกเพื่อจ่ายให้นางนัยนา เมื่อจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จ่ายเงินกู้ได้และการจ่ายเงินสดเป็นไปตามระเบียบแล้ว ทั้งลักษณะงานของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบงานในฝ่ายการเงิน มิได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินให้สมาชิกโดยตรง ประกอบกับไม่ปรากฏว่าการจ่ายเงินสดจำนวนมาก จำเลยที่ 2 จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ก่อน ฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำทุจริต จงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบเช่นเดียวกัน จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ตรวจสอบเอกสารการมอบอำนาจ มอบฉันทะให้ถูกต้องเรียบร้อย ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนต่อระเบียบของโจทก์ว่าด้วย การรับจ่าย และเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2550 ข้อ 26 และข้อ 27 เป็นละเมิดต่อโจทก์และผิดสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปตามระเบียบของโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 มอบเงินจำนวนมากให้จำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 ขอเบิกโดยไม่ได้สอบถามหรือตรวจสอบว่าเงินที่เบิกไปนั้นเป็นการจ่ายที่ถูกต้องตามระเบียบของโจทก์ว่าด้วย การรับจ่าย และเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2550 ข้อ 26 และข้อ 27 หรือไม่ ย่อมเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น เป็นอุทธรณ์ที่กล่าวอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 6 ฟังมา เพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์ว่าด้วย การรับจ่าย และเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2550 ข้อ 26 และข้อ 27 เป็นละเมิดต่อโจทก์และผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย หาใช่อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแต่อย่างใดไม่ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 6 ฟังมาเพียงพอที่ศาลฎีกาสามารถวินิจฉัยคดีไปเสียทีเดียวได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาใหม่ โดยศาลฎีกาเห็นว่า ระเบียบของโจทก์ว่าด้วย การรับจ่าย และเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2550 ข้อ 26 กำหนดว่า "การจ่ายเงินของสหกรณ์ ให้กระทำได้ดังนี้...(2) การจ่ายเงินเป็นจำนวนมากให้แก่สมาชิก หรือกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์...ให้จ่ายเป็นเช็ค ยกเว้นถ้าผู้รับเงินประสงค์จะให้จ่ายเป็นเงินสด หรือในกรณีที่สหกรณ์ไม่สามารถจ่ายเป็นเช็คได้ ก็ให้จ่ายเป็นเงินสดโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการ" และข้อ 27 กำหนดว่า "ก่อนจ่ายเงินทุกครั้ง ผู้มีหน้าที่จ่ายต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และใบสำคัญประกอบ การจ่ายเงินให้ถูกต้องเรียบร้อย และต้องมีผู้อนุมัติให้จ่ายเงินได้ จึงจ่ายเงิน และเรียกใบเสร็จรับเงินหรือให้ผู้รับเงินลงนามรับเงินไว้ในหลักฐานการจ่ายเงินของสหกรณ์ทุกครั้ง" แม้โจทก์มิได้ถือเคร่งครัดว่าการจ่ายเงินจำนวนมากเป็นเงินสดจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ แต่การจ่ายเงินจำนวนมากเป็นเงินสดอาจทำได้ในกรณีที่ผู้รับเงินประสงค์จะให้จ่ายเป็นเงินสด ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้จัดการสหกรณ์โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินกู้ได้ แม้นางนัยนา ป้อนข้อมูลการซื้อหุ้นของนางประกอบ และนายกก อันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของโจทก์ แล้วปลอมคำขอกู้เงินสามัญประเภทกู้หุ้นและหนังสือกู้สำหรับเงินกู้สามัญของนางประกอบ และนายกก ก็ตาม แต่หนังสือกู้สำหรับเงินกู้สามัญมีชื่อนางประกอบ และนายกก เป็นผู้กู้ แสดงว่า โจทก์อนุมัติให้นางประกอบ และนายกก กู้ยืมเงินจากโจทก์ ตามปกติแล้วนางประกอบ และนายกก ต้องเป็นผู้รับเงินด้วยตนเอง การจ่ายเงินกู้จำนวนมากเช่นในคดีนี้ จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเป็นเช็ค เว้นแต่นางประกอบ และนายกก แสดงเจตนาขอรับเป็นเงินสด โจทก์สามารถจ่ายเป็นเงินสดให้นางประกอบ และนายกก ได้ แต่หากนางประกอบ และนายกก ก็ไม่ได้รับเงินด้วยตนเองแล้วแสดงเจตนาขอรับเป็นเงินสดโดยให้นางนัยนา เป็นผู้รับเงินแทน แม้นางประกอบ เป็นมารดานางนัยนา และนายกก เป็นพี่เขยนางนัยนา นางประกอบ และนายกก ก็ต้องทำหนังสือมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้นางนัยนา รับเงินแทน นางนัยนา จึงจะมีสิทธิรับเงินสดแทนนางประกอบ และนายกก ได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้ถูกต้องเสียก่อน จึงจะจ่ายเงินกู้ให้แก่นางนัยนา ได้ โดยถือว่าเป็นการจ่ายเงินจำนวนมากเป็นเงินสดให้แก่ผู้รับเงินตามความประสงค์ของผู้รับเงิน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินกู้จำนวนมากเป็นเงินสดให้แก่นางนัยนาซึ่งไม่ใช่ผู้มีสิทธิรับเงินตามสัญญากู้ของนางประกอบ และนายกก จึงเป็นการจ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบของโจทก์ว่าด้วย การรับจ่าย และเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2550 ข้อ 26 (2) ซึ่งเป็นละเมิดต่อโจทก์และเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ด้วย เมื่อการจ่ายเงินกู้ของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นไปตามระเบียบดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง ที่จะมีผลให้จำเลยที่ 1 รับผิดน้อยลงดังคำวินิจฉัยของ ศาลแรงงานภาค 6 ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องตรวจสอบ กำกับ ดูแลว่า การจ่ายเงินสดของจำเลยที่ 1 ถูกต้องตามระเบียบของโจทก์หรือไม่ จำเลยทั้งสองไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยทั้งสองยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ถือว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องตรวจสอบ กำกับ ดูแลว่า การจ่ายเงินสดของจำเลยที่ 1 ถูกต้องตามระเบียบของโจทก์หรือไม่ สอดคล้องกับสำเนาคำสั่งของโจทก์ที่ 41/2551 เรื่องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติและรับผิดชอบในหน้าที่ กำหนดหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินว่ามีหน้าที่ควบคุมและดูแลรับผิดชอบงานในฝ่ายการเงินและปฏิบัติงานควบคุมการรับจ่ายเงิน ในงานจ่ายเงินทุกประเภทตามข้อบังคับและระเบียบของโจทก์ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่จ่ายเงินกู้ให้แก่สมาชิกผู้กู้โดยตรง และทางปฏิบัติจำเลยที่ 1 เคยเบิกเงินจำนวนมากไปจากจำเลยที่ 2 มาก่อน โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องตรวจสอบว่าจำเลยที่ 1 เบิกเงินไปจ่ายให้แก่ผู้ใด และเป็นการจ่ายตามระเบียบหรือไม่ เพียงแต่ตรวจสอบว่ามีการจ่ายเงินจริงหรือไม่เท่านั้น แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมการจ่ายเงินทุกประเภทให้เป็นไปตามระเบียบของโจทก์ แล้วไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ควบคุมการจ่ายเงินสดของจำเลยที่ 1 ให้แก่นางนัยนา ให้ถูกต้องตามระเบียบของโจทก์ว่าด้วย การรับจ่าย และเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2550 ข้อ 26 (2) ซึ่งเป็นละเมิดต่อโจทก์และเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ แต่การกำหนดค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ว่าด้วย การรับจ่าย และเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2550 เป็นดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่สามารถกำหนดเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 6 ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนคดีนี้ได้ความว่า นางนัยนา ชำระหนี้ส่วนของตนและมูลหนี้ตามสำเนาหนังสือกู้สำหรับเงินกู้สามัญให้แก่โจทก์แล้วบางส่วน และโจทก์ฟ้องนางนัยนา เป็นคดีล้มละลายซึ่งมีมูลหนี้ตามหนังสือกู้สำหรับเงินกู้สามัญทั้งสองฉบับรวมอยู่ด้วยจนกระทั่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนางนัยนา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 ตามสำเนาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คดีหมายเลขแดงที่ ล.1059/2561 ดังนั้น จึงให้นำเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่นางนัยนา ชำระให้แก่โจทก์บางส่วนดังกล่าวหักออกจากดอกเบี้ยและเงินต้นตามลำดับที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ และหากโจทก์ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องนางนัยนา เป็นคดีล้มละลายจากกองทรัพย์สินของนางนัยนา ในคดีล้มละลายนั้นแล้วจำนวนเท่าใด ให้นำมาหักออกจากดอกเบี้ยและเงินต้น ตามลำดับ ที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ด้วยเช่นเดียวกัน แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การและนำสืบต่อสู้ไว้ ทั้งไม่ได้กล่าวอ้างไว้ในคำแก้ฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์และคำแก้ฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น
พิพากษากลับให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และแก้คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย โดยย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียงใด โจทก์ได้รับชำระหนี้จากนางนัยนา ในมูลหนี้ตามสำเนาหนังสือกู้สำหรับเงินกู้สามัญ และได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของนางนัยนา ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.1059/2561 ของศาลล้มละลายกลาง จำนวนเท่าใด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี