โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายบุคคลธุรการ โจทก์เลิกจ้างจำเลยเพราะจำเลยได้ใช้พนักงานรักษาความปลอดภัยไปทำงานส่วนตัวให้จำเลยในเวลาทำงาน จำเลยจึงฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยโดยไม่เป็นธรรม ขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายจำเลยได้เบิกความเท็จในคดีดังกล่าวว่า นายสมนึกอยากได้รายได้พิเศษจุนเจือครอบครัว ข้าพเจ้าบอกว่าจะหางานให้ทำแต่ต้องไม่ใช่เวลาทำงานของบริษัทจำเลยข้าพเจ้าเคยฝากงานร้านอาหารให้นายสมนึก โดยให้ไปทำในช่วงที่มิได้เป็นเวลาทำงานของบริษัทจำเลย และเบิกความเท็จว่าข้าพเจ้าไม่เคยใช้นายพะโยมไปทำธุระส่วนตัว ร้านอาหารที่ข้าพเจ้าฝากงานให้ไปทำอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าเอดิสันศรีย่าน เอกสาร ล.๖ เป็นหนังสือที่ข้าพเจ้าฝากงานให้นายสมนึก ข้าพเจ้าเคยมีหนังสือลับถึงนายพะโยมเป็นหนังสือขอบใจนายพะโยมที่ไปช่วยร้านอาหารโดยนายสมนึกขอร้องให้ไปช่วยโดยข้าพเจ้าไม่ทราบเรื่องตามเอกสารหมาย ล.๙ ความจริงจำเลยไม่ได้ฝากงานให้นายสมนึก แต่จำเลยได้ใช้นายสมนึกและนายพะโยมละทิ้งหน้าที่ในเวลาทำงานของโจทก์ไปทำงานส่วนตัวให้จำเลยโดยใช้ไปซื้อกับข้าวให้ร้านอาหารที่อยู่ที่ห้างสรรพสินค้าเอดิสัน ศรีย่าน เอกสารหมาย ล.๙ ก็เป็นหนังสือที่จำเลยทำขึ้นเพื่อขอบใจนายพะโยมเกี่ยวกับเรื่องงานที่จำเลยมอบหมายให้ไปทำและให้เก็บเป็นความลับ ซึ่งข้อความที่จำเลยเบิกความดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะหากปรากฏว่ามีการละทิ้งหน้าที่แล้วการเลิกจ้างก็เป็นธรรม หากไม่มีการละทิ้งหน้าที่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นการวินิจฉัยถึงข้อแพ้ชนะในคดี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ให้งดไต่สวนมูลฟ้อง และพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในคดีก่อนศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่านายสมนึกและนายพะโยมพนักงานรักษาความปลอดภัยของโจทก์ละทิ้งหน้าที่อันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยเป็นผู้ใช้ให้กระทำ ซึ่งโจทก์อ้างตามฟ้องในคดีนี้ว่าเป็นมูลเหตุที่โจทก์เลิกจ้างจำเลย เพราะจำเลยใช้พนักงานรักษาความปลอดภัยละทิ้งหน้าที่ไปทำงานส่วนตัวให้จำเลย และในการวินิจฉัยข้อกฎหมายที่ว่าการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่นั้น ก็อาศัยวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยตรง ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้น อาจจะเป็นกรณีถือได้ว่า จำเลยทุจริตต่อหน้าที่ จงใจให้โจทก์เสียหายอันโจทก์ถือเป็นเหตุในกรณีที่เลิกจ้างจำเลย ซึ่งถ้าเป็นดังนี้ย่อมถือไม่ได้ว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอันอาจจะทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ ในขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์ (จำเลยในคดีก่อน) ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกาให้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นจะอ้างว่า แม้จำเลยจะเบิกความเป็นเท็จก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่ถูกต้อง สรุปแล้วเห็นว่าข้อความที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเบิกความตามที่กล่าวในฟ้องนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป.