โจทก์ฟ้องและแก้เพิ่มเติมฟ้องว่า ประมาณวันที่ 31 มีนาคมถึง 20 มิถุนายน 2515 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราชวัตร หมายเลขเช็คที่ 790849สั่งจ่ายเงินจำนวน 20,000 บาท ลงวันที่สั่งจ่ายวันที่ 14 เมษายน 2515 มอบให้ผู้อื่นเป็นการชำระหนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2515 เวลากลางวัน นายบรรยง ถิรคุณโกวิท ได้เซ็นชื่อสลักหลังโอนเช็คดังกล่าวให้โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ และในวันที่ 19 มิถุนายน 2515 โจทก์นำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราชวิถี เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คให้โจทก์ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราชวัตรปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2515 โดยให้เหตุผลว่า"บัญชีปิดแล้ว" ทั้งนี้ตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น และออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้นและจำเลยได้ถอนเงินออกจากบัญชีอันจะพึงจะใช้เงินตามเช็คจนไม่มีเงินเหลือพอจะใช้เงินตามเช็ค และออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ เหตุเกิดที่ตำบลวชิระ อำเภอสามเสน จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และที่ตำบลถนนนครไชยศรี อำเภอดุสิต จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ต่อเนื่องกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยให้การปฏิเสธ และว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยเรื่องเช็คว่า เป็นเช็คที่จำเลยออกเพื่อชำระหนี้เงินมัดจำในการซื้อขายที่ดินระหว่างนายบรรยงผู้ขายกับจำเลยผู้ซื้อที่ดิน ไม่ใช่ออกเพื่อประกันสัญญาซื้อขาย และวินิจฉัยต่อไปว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 เพราะโจทก์มิได้ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีนี้ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับพิพาทแล้วตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2515 ถือว่าความผิดได้เกิดขึ้นและเป็นวันรู้เรื่องการกระทำผิด คือการออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชีพอจ่าย และรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว อายุความจึงต้องเริ่มนับทันทีแต่วันนั้น เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้คือวันที่ 1 สิงหาคม 2515 เป็นเวลาเกินกว่าสามเดือน และก่อนฟ้องคดีนี้มิได้มีการร้องทุกข์ คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 จะถือเอาการที่โจทก์เป็นผู้รับโอนเช็คมาเป็นเหตุให้ยังไม่เริ่มนับอายุความแต่วันกระทำผิด ซึ่งจะเป็นโทษแก่จำเลยนั้นไม่ได้ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้โจทก์ขอแถลงการณ์ด้วยวาจา แต่เห็นว่าการแถลงการณ์ด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่คดีจึงให้งดเสีย ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2515 จำเลยมอบเช็คพิพาทลงวันที่ 14 เมษายน 2515 ให้นายบรรยง ถิรคุณโกวิท เป็นเงินค่ามัดจำซื้อที่ดินที่จำเลยจะซื้อจากนายบรรยง และในวันที่ 14 เมษายน 2515 นายบรรยงนำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาธนบุรี ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยบอกว่ายังรอเรียกเก็บเงินอยู่ โปรดนำมายื่นใหม่ วันที่ 17 เดือนเดียวกัน นายบรรยงนำเช็คเข้าบัญชีอีกครั้งหนึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าให้ไปติดต่อผู้สั่งจ่าย ต่อมานายบรรยงสลักหลังเช็คให้โจทก์ไป โจทก์นำเช็คเข้าบัญชีธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงินวันที่ 20 มิถุนายน 2515 ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอีกครั้งหนึ่งโดยอ้างว่าบัญชีปิดแล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่าความผิดที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เช็คฉบับพิพาทได้ถูกธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาราชวัตร ปฏิเสธการจ่ายเงินมาก่อนถึงสองครั้งแล้ว คือครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2515 ซึ่งธนาคารปฏิเสธว่า "ยังรอเรียกเก็บเงินอยู่ โปรดนำมายื่นใหม่" ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2515 ซึ่งธนาคารปฏิเสธว่า "โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย" และขณะนั้นนายบรรยงเป็นผู้ทรงเช็ค ปรากฏตามเอกสาร ล.1 และ ล.3 ต่อมานายบรรยงสลักหลังเช็คพิพาทโอนให้โจทก์ โจทก์นำไปขึ้นเงินและถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอีกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2515 เช่นนี้เห็นได้ว่าธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับพิพาทแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2515 ความผิดได้เกิดขึ้นและเป็นวันรู้เรื่องการกระทำผิดคือการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นหรือออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้หรือจำเลยได้ถอนเงินจากบัญชีอันพึงจะใช้เงินตามเช็คจนไม่มีเงินเหลือพอจะใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ และรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ คือวันที่ 1 สิงหาคม 2515 เป็นเวลาเกินกว่าสามเดือน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 แม้โจทก์จะเป็นผู้ทรงเช็คภายหลังก็ตาม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน