โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 371 ริบของกลางทั้งหมดที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่
จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 8 ปี และปรับ 450,000 บาท ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ลงโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 จำคุก 8 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 16 ปี 12 เดือน และปรับ 450,000 บาท จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี 6 เดือน และปรับ 225,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้รถยนต์หมายเลขทะเบียน กค 812 ปราจีนบุรี ของกลาง เป็นยานพาหนะที่จำเลยที่ 3 ร่วมกับพวกใช้ในการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ อันเป็นยานพาหนะที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ซึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้นก็ตาม แต่รถยนต์ของกลางไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ดังนั้น เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบของกลางทั้งหมดที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ ดังนี้ เท่ากับโจทก์ขอให้ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเท่านั้น โจทก์มิได้มีคำขอให้ริบรถยนต์ของกลาง เช่นนี้ศาลย่อมไม่อาจสั่งริบรถยนต์ของกลางได้เพราะจะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางจึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ริบรถยนต์ของกลางนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์