โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 244, 247 ริบธนบัตรปลอมและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 3 ปากพันตำรวจโทมั่นวัตร และนายอิทธิพัทธิ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244, 247 ประกอบมาตรา 83 (ที่ถูก มาตรา 244 ประกอบมาตรา 247, 83) จำคุกคนละ 2 ปี ริบธนบัตรปลอมและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คำพิพากษา
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งระหว่างพิจารณา
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความ ฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการบริษัท อ. ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างและประกอบกิจการค้าตราสารแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของบริษัทของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 มีอาชีพรับแลกเปลี่ยนเงินตรา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา นายอิทธิพัทธิ์หรือหนุ่ม ได้นำธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ชนิดราคา 100 ดอลลาร์สหรัฐ รุ่นปี 2006 จำนวน 398 ฉบับ มาแลกเงินกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ตกลงคิดค่าตรวจสอบธนบัตรฉบับละ 100 บาท จากนั้นจำเลยที่ 3 ได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 ให้มาตรวจดูธนบัตรดังกล่าว แล้วจำเลยทั้งสามก็ร่วมกันตรวจนับจำนวนธนบัตร ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 จำเลยทั้งสามร่วมกันนำธนบัตรไปตรวจสอบที่ร้าน ย. ในห้างสรรพสินค้า ด. แต่ตรวจสอบไม่ได้เนื่องจากเจ้าของร้านไม่อยู่ จำเลยที่ 1 จึงติดต่อหาร้านแล้วร่วมกับจำเลยที่ 2 นำธนบัตรดังกล่าวไปที่ร้าน ท. ซึ่งทางร้านตรวจสอบจากเครื่องตรวจธนบัตรแล้วปรากฏว่าเป็นธนบัตรปลอมทั้งหมด เจ้าพนักงานตำรวจจึงได้จับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมยึดธนบัตรทั้งหมดและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นของกลาง จากนั้นได้มีการตรวจสอบธนบัตรดังกล่าวซ้ำอีกและยืนยันได้ว่าธนบัตรของกลางเป็นธนบัตรปลอม ต่อมาร้อยตำรวจโทณเรศน์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยาได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 3 ครั้นวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 3 ได้ หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามถูกฟ้องกล่าวหาเป็นคดีนี้ ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลมีคำสั่งงดสืบพยานปากพันตำรวจโทมั่นวัตร หัวหน้าชุดจับกุม และนายอิทธิพัทธิ์ เจ้าของธนบัตรของกลาง ซึ่งเป็นพยานจำเลยที่ 3 คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อแรกว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 3 นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า สภาพแห่งข้อหาคดีนี้อ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม โดยเมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้วนั้น ข้อเท็จจริงเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้แล้วว่าธนบัตรของกลางในคดีนี้เป็นธนบัตรปลอม ซึ่งจำเลยที่ 3 นำสืบปฏิเสธต่อสู้คดีว่า ธนบัตรของกลางเป็นของนายอิทธิพัทธิ์ โดยจำเลยที่ 3 ไม่ทราบว่าเป็นธนบัตรปลอม จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้กระทำความผิด ดังนั้น แม้หากสืบพยานจำเลยที่ 3 ปากพันตำรวจโทมั่นวัตรซึ่งเป็นหัวหน้าชุดจับกุม และนายอิทธิพัทธิ์เจ้าของธนบัตรปลอมของกลาง ก็ได้ความแต่เพียงว่าพันตำรวจโทมั่นวัตรร่วมวางแผนกับจำเลยที่ 3 เพื่อจับกุมนายอิทธิพัทธิ์เจ้าของธนบัตรปลอมของกลางเท่านั้น พยานทั้งสองปากดังกล่าวยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดหรือบริสุทธิ์ เนื่องจากยังมิใช่พยานสำคัญเกี่ยวกับสภาพแห่งข้อหาและข้อต่อสู้โดยตรงในความรับรู้ของจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับธนบัตรของกลางว่าในขณะที่รับไว้นั้นจำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วหรือไม่ว่าเป็นธนบัตรปลอม ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจงดสืบพยานทั้งสองปากของจำเลยที่ 3 มานั้น จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 วรรคท้าย แล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยรู้ว่า เป็นธนบัตรปลอมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์มีนางสาวจุฑาทิพย์ และนายพศิน ซึ่งเป็นพนักงานร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราของร้าน ย. และร้าน ท. เบิกความยืนยันเกี่ยวกับธนบัตรของกลางได้ความว่า ธนบัตรของกลางที่นำมาแลกนั้นเป็นธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ชนิดราคา 100 ดอลลาร์สหรัฐ รุ่นปี 2006 มีสภาพค่อนข้างใหม่เหมือนยังไม่ได้ใช้งาน ซึ่งเมื่อตรวจสอบเบื้องต้นด้วยการพลิกดูและสัมผัสด้วยมือแล้วนั้น มีสภาพสี ลักษณะเนื้อกระดาษและน้ำหนักแตกต่างจากธนบัตรที่แท้จริง พยานทั้งสองจึงไม่ได้รับแลกเปลี่ยนธนบัตรของกลาง จากข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมส่อแสดงให้เห็นได้ว่าธนบัตรของกลางมีลักษณะและสภาพเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นธนบัตรปลอมโดยไม่จำต้องใช้เครื่องตรวจสอบธนบัตรแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 3 ซึ่งมีอาชีพเกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นผู้รับไว้ซึ่งธนบัตรของกลางเพื่อนำไปแลกเปลี่ยน และเป็นผู้ร่วมกันตรวจนับธนบัตรของกลางซึ่งมีจำนวนถึง 398 ฉบับ อันมีมูลค่าสูง จึงย่อมต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการตรวจสอบถึงความแท้จริงถูกต้องในเบื้องต้นของธนบัตรที่รับไว้ นอกจากนี้จำเลยที่ 3 เองก็เป็นผู้ติดต่อจำเลยที่ 1 และมอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนธนบัตรของกลางมาตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมด้วยธนบัตรของกลาง แม้ว่าในขณะนั้นจำเลยที่ 3 มิได้อยู่ร่วมด้วยก็ตาม พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีและพฤติกรรมของจำเลยที่ 3 ที่รับไว้และดำเนินการเกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนธนบัตรของกลางมาโดยตลอดจนกระทั่งถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ตามหมายจับ เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าธนบัตรของกลางเป็นธนบัตรปลอม ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 3 ไม่รู้และไม่อาจทราบได้ว่าธนบัตรของกลางเป็นธนบัตรปลอม และจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างโดยปราศจากพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุนประกอบจึงมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดของจำเลยที่ 3 มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อีกทั้งไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้ออื่นเกี่ยวกับความผิดของจำเลยที่ 3 เพราะไม่มีเหตุและเป็นผลให้คดีเปลี่ยนแปลงไป
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อสุดท้ายว่า คดีมีเหตุให้ลงโทษจำเลยที่ 3 สถานเบาโดยรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษไว้ก่อนหรือไม่ เห็นว่า สภาพความผิดคดีนี้เป็นการกระทำเกี่ยวกับเงินตราของต่างประเทศ อีกทั้งธนบัตรของกลางมีจำนวนมากและมูลค่าสูง หากมีการนำออกใช้ย่อมแพร่หลายกระทบต่อความมั่นคงและสภาวะเศรษฐกิจโดยส่วนรวม จึงเป็นความผิดที่ร้ายแรง แม้จำเลยที่ 3 จะมีภาระต้องดูแลครอบครัว ก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษให้จำเลยที่ 3 หรือรอการกำหนดโทษไว้ก่อน อีกทั้งโทษจำคุก 2 ปี ก็นับว่าเหมาะสมและเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน