โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วม และมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมครั้งที่ 1/2552 และครั้งที่ 2/2552 ของนิติบุคคลอาคารชุดโมเดอร์นโฮมทาวเวอร์ ดิเอ็กซคลูซีฟ เพลส
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมนิติบุคคลอาคารชุดโมเดอร์นโฮมทาวเวอร์ ดิเอ็กซคลูซีฟ เพลส ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2552 และครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2552 พร้อมทั้งมติที่ประชุมดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางพิจารณาโจทก์ทั้งสามนำสืบว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุด ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 โดยมีนายพรชัย เป็นผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 มีข้อบังคับตามข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุด โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในห้องชุดเลขที่ 149/105 และ 149/261 มีภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎรอยู่ที่บ้านเลขที่ 899/197 โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 149/85 และมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 72 โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มอบอำนาจให้นายพรชัยดำเนินคดีแทน เดิมกรรมการโจทก์ที่ 1 ได้รับแต่งตั้งจากมติที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2550 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2552 ที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2551 แต่งตั้งให้นายพรชัยเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 การประชุมใหญ่ของโจทก์ที่ 1 มีข้อบังคับว่าจะต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งไปยังเจ้าของร่วมทุกคนตามสถานที่อยู่จริงของเจ้าของร่วมก่อนวันนัดประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีเจ้าของร่วมประสงค์จะเปิดประชุมด้วยตนเองเจ้าของร่วมจะต้องเข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดของเจ้าของร่วมร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญ หากไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน ให้เจ้าของร่วมดังกล่าวมีอำนาจเรียกประชุมเจ้าของร่วม ส่วนการนับองค์ประชุมจะต้องมีคะแนนเสียงจากอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของเจ้าของร่วม หากไม่ครบให้เจ้าของร่วมเรียกประชุมใหม่ภายใน 15 วัน หากคะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 25 ก็ให้จัดประชุมไปได้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2552 จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด อ้างว่ามีเจ้าของร่วมเข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 มีความประสงค์ขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมครั้งที่ 1/2552 ตามหนังสือเรื่องขอให้จัดประชุมใหญ่เจ้าของร่วมที่แท้จริง บางส่วนได้มีเจตนาขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วม แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้ลงชื่อบางส่วนไม่ได้เป็นเจ้าของร่วม มีเจ้าของร่วมที่ลงลายมือชื่อถูกต้องเพียงร้อยละ 10 ตามรายชื่อเจ้าของร่วมที่ขอเปิดประชุมประชุมใหญ่วิสามัญ จึงไม่จัดประชุมให้ตามขอ ต่อมาจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวได้ออกหนังสือเชิญประชุมวิสามัญเจ้าของร่วมครั้งที่ 1/2552 อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 และเปิดประชุมโดยมีเจ้าของร่วมเข้าประชุมไม่ถึงร้อยละ 25 ของอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือเปิดประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมครั้งที่ 2/2552 อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 และเปิดประชุมโดยมีเจ้าของร่วมประชุมไม่ถึงร้อยละ 25 ของอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือเปิดประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมครั้งที่ 2/2552 โดยจำเลยที่ 2 มิได้ส่งหนังสือเชิญประชุมแก่เจ้าของร่วมทุกคนทั้งไม่ได้ส่งตามที่อยู่จริงของเจ้าของร่วม นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเรียกประชุมโดยลงลายมือชื่อในหนังสือเชิญประชุมเพียงคนเดียวเป็นการกระทำโดยที่ไม่มีอำนาจ ในการประชุมครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2552 จำเลยทั้งสองได้ทำหลักฐานไว้ ซึ่งในการประชุมเจ้าของร่วมจะต้องลงลายมือชื่อไว้ทุกครั้ง ดังที่ปรากฏตามเอกสารลงนามผู้เข้าร่วมการประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมครั้งที่ 2/2552 หนังสือเชิญประชุมของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ระบุวาระเรื่องแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคล แต่กลับพิจารณาถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคล จึงต้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่เกิดจากการเรียกประชุมและจัดประชุมไม่ชอบดังกล่าว
จำเลยทั้งสองนำสืบว่า มติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมนิติบุคคลอาคารชุดชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนเหตุที่เจ้าของร่วมร่วมกันลงชื่อขอให้จัดประชุมเนื่องจากในการประชุมใหญ่ประจำปี 2551 ของนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งขณะนั้นมีนายพรชัยเป็นผู้จัดการนิติบุคคล นายพรชัยไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปจำนวน 15,000,000 บาท ได้ถือเป็นการบริหารที่ไม่โปร่งใส เจ้าของร่วมจึงขอให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดประชุม จำเลยที่ 1 รวบรวมรายชื่อเจ้าของร่วมได้ประมาณร้อยละ 22 แล้วทำหนังสือส่งถึงประธานคณะกรรมการและกรรมการของโจทก์ที่ 1 แต่ได้รับแจ้งว่า รายชื่อเจ้าของร่วมบางส่วนเป็นเพียงการลงชื่อในแบบสอบถามความคิดเห็น จึงไม่ดำเนินการจัดประชุมให้ วันที่ 2 กรกฎาคม 2552 โจทก์ที่ 1 มีหนังสือแจ้งว่าจะจัดประชุมในวันที่ 26 กรกฎาคม 2552 หรือวันที่ 2 สิงหาคม 2552 จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของเจ้าของร่วมจึงออกหนังสือขอเชิญประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2552 โดยส่งหนังสือเชิญประชุมแก่เจ้าของร่วมด้วยวิธีนำไปใส่ไว้ในช่องส่งจดหมายของเจ้าของร่วมแต่ละคนที่โจทก์ที่ 1 จัดไว้ ดังที่เคยปฏิบัติกันมา ส่วนโจทก์ที่ 1 ก็ปิดประกาศแจ้งกำหนดวันประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมครั้งที่ 1/2552 ไว้ที่ลิฟต์ของอาคารชุดทั้งได้ส่งให้แก่เจ้าของร่วมทุกคนโดยกำหนดประชุมในวันที่ 2 สิงหาคม 2552 ตามหนังสือแจ้งกำหนดวันประชุม แต่ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2552 มีเจ้าของร่วมเข้าประชุมเพียงประมาณร้อยละ 18 ซึ่งไม่ครบองค์ประชุม จึงนัดประชุมใหม่ในวันที่ 1 สิงหาคม 2552 โดยส่งหนังสือเชิญประชุมแก่เจ้าของร่วมด้วยวิธีนำไปใส่ไว้ในช่องส่งจดหมายของเจ้าของร่วมแต่ละคนที่โจทก์ที่ 1 จัดไว้ มีเจ้าของร่วมเข้าประชุมร้อยละ 32 ที่ประชุมมีมติถอดถอนกรรมการบางคนและตั้งกรรมการชุดใหม่ในวาระเดียวกัน จำเลยที่ 1 นำมติที่ประชุมดังกล่าวไปจดทะเบียน แต่นายพรชัยมีหนังสือคัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจึงไม่จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเอกสาร เช่น ลายมือชื่อเจ้าของรวมที่ลงมือชื่อขอให้เรียกประชุมไปแสดงเพิ่มเติม เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจึงเพิกถอนคำสั่งที่ไม่รับจดทะเบียนกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดในครั้งแรก และจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้จัดการนิติบุคคลให้ตามหลักฐานการจดทะเบียน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการประชุมใหญ่วิสามัญ แต่มิได้กล่าวถึงการเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญจึงต้องเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยแก่คดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 ที่บัญญัติว่า "การประชุมใหญ่นั้น ถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกันหรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย ..." ซึ่งในกรณีของนิติบุคคลอาคารชุดได้แก่กรรมการหรือเจ้าของร่วม อันเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การจัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตรงตามความประสงค์ของเจ้าของร่วมทั้งหลาย ดังนั้น ผู้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญย่อมได้แก่กรรมการนิติบุคคลอาคารชุดหรือเจ้าของร่วมเท่านั้น ทั้งนิติบุคคลอาคารชุดต้องปฏิบัติตามมติของเจ้าของร่วม โจทก์ที่ 1 จะฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมเองไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้การประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมและมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมอาคารชุดไม่ชอบด้วยกฎหมายและฝ่าฝืนข้อบังคับก็ตาม แต่ก็หาทำให้การประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมและมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมดังกล่าวเสียไปหรือตกเป็นโมฆะไม่ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมอันผิดระเบียบนั้นเสียก่อน ซึ่งโจทก์ที่ 2 และที่ 3 อาจใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท อย่างไรก็ตามไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ยื่นฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาท โจทก์ที่ 2 และที่ 3 อาจฟ้องผู้ที่โต้แย้งสิทธิของตนเพื่อให้บังคับตามสิทธินั้นเป็นคดีมีข้อพิพาทก็ได้ แต่คดีนี้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งสองเรียกประชุม ได้ประชุมกัน และจัดให้มีการลงมติโดยฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุด แต่ในคำขอบังคับตามฟ้อง ขอเพียงให้เพิกถอนการประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วม และมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ซึ่งมีผลทำให้คณะกรรมการบริหารนิติบุคคลอาคารชุดและนายพรชัย ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดขณะนั้นพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคล แม้หากฟังได้ตามฟ้องให้โจทก์ชนะคดี จำเลยทั้งสองก็ไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ เพราะจะต้องบังคับเอาแก่นิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเท่านั้น แต่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ฟ้องนิติบุคคลอาคารชุดมาด้วย กรณีจึงไม่มีบุคคลที่อาจต้องรับผิดตามคำขอของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 มาในฟ้อง ทั้งไม่อาจแปลคำฟ้องว่าเป็นการร้องขอให้บังคับนิติบุคคลอาคารชุดด้วย เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 นอกจากนั้นโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่ได้มีคำขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ฐานกระทำละเมิด ฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่อาจบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเช่นกัน ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ฎีกาข้ออื่นจำเลยทั้งสองไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ