โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 188, 264, 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำฟ้องโจทก์ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาว่าบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่าการกระทำของบุคคลนั้นครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่บัญญัติให้ฟ้องต้องระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด หรืออีกนัยหนึ่ง ฟ้องต้องบรรยายให้ครบองค์ประกอบความผิด ฟ้องที่บรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและศาลไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ แม้การบรรยายฟ้องในส่วนของข้อเท็จจริงในองค์ประกอบความผิดนั้น ไม่ได้เคร่งครัดว่าจะต้องใช้ถ้อยคำตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายทุกประการ แต่โจทก์ยังคงต้องบรรยายให้ครบองค์ประกอบความผิด ประกอบด้วย องค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายใน และบางฐานความผิดยังต้องมีพฤติการณ์ประกอบการกระทำหรือเจตนาพิเศษ อย่างใดอย่างหนี่งหรือทั้งสองอย่างจึงจะเป็นความผิด ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดที่โจทก์ต้องบรรยายฟ้องมาด้วย เมื่อการบรรยายฟ้องตามมาตรา 158 (5) ไม่จำต้องเคร่งครัดถึงกับต้องใช้ถ้อยคำในกฎหมาย และฟ้องโจทก์ข้อ 2 วรรคหนึ่ง ที่แยกเป็นข้อ 2.1 ข้อ 2.2 และข้อ 2.3 ก็เป็นการบรรยายฟ้องแสดงข้อเท็จจริงซึ่งเป็นการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดเป็นลำดับและมีรายละเอียดต่อเนื่องกัน ซึ่งเมื่ออ่านโดยรวมแล้วเข้าใจได้ โดยความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง โจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยทั้งสองปลอมหนังสือมอบอำนาจโจทก์เพื่อเป็นหลักฐานในการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำเพื่อนำเอาเอกสารหนังสือมอบอำนาจปลอมนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชนอย่างไรอยู่ในตัว ส่วนความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคหนึ่งโจทก์ก็บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยทั้งสองใช้หรืออ้างหนังสือมอบอำนาจปลอมนั้นต่อเจ้าพนักงานที่ดินจนหลงเชื่ออย่างไร และสำหรับความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 137 โจทก์ก็บรรยายฟ้องแล้วว่าเป็นการที่จำเลยทั้งสองให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินโดยเจตนาที่จะไม่ต้องแสดงหนังสือยินยอมของคู่สมรสของโจทก์ในการจดทะเบียนขายที่ดินทั้งที่ความจริงโจทก์มีคู่สมรส ซึ่งในคำฟ้องข้อ 2 วรรคสอง ก็มีการบรรยายข้อความต่อเนื่องอีกว่า การกระทำตามฟ้องข้อ 2.1 ข้อ 2.2 และข้อ 2.3 ทำให้โจทก์ต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปเป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการบรรยายองค์ประกอบความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมและฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานแล้วว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้อื่นหรือประชาชนอย่างไร ฟ้องโจทก์ในความผิดทั้งสามฐานนี้จึงครบองค์ประกอบความผิดแล้ว นอกจากนี้ความผิดฐานร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตามมาตรา 188 ในข้อ 2.1 ตามฟ้องโจทก์ข้อ 2 วรรคหนึ่ง นั้น แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ด้วย แต่ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 โดยเห็นว่า ความผิดฐานดังกล่าวโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันนำต้นฉบับโฉนดที่ดินของโจทก์ไปเสียจากโจทก์ ต่อมานำไปจดทะเบียนซื้อขายกับจำเลยที่ 2 ตามที่ได้ความในข้อ 2.2 ซึ่งทำให้โจทก์ต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าวตามฟ้องข้อ 2 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นจึงเป็นฟ้องที่บรรยายว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผู้อื่นหรือประชาชนอย่างไร ครบองค์ประกอบความผิดแล้วเช่นกัน การที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องในความผิดทุกฐานไม่ครบองค์ประกอบความผิด โดยวินิจฉัยคำฟ้องโจทก์แยกเป็นส่วน ๆ และไม่ได้วินิจฉัยข้อความตามฟ้องโจทก์ข้อ 2 วรรคสองที่บรรยายว่า "ทำให้โจทก์ต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดิน" ว่ามีความหมายอย่างไรด้วยจึงยังไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นพิพากษาความผิดตามฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองใหม่ตามรูปคดี