โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน และ 31 ตุลาคม 2537 จำเลยทั้งสามร่วมกันกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 50,000 บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับโดยมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เพียงเดือนกรกฎาคม 2540แล้วไม่ชำระอีกเลย โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 85,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน80,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่เคยกู้เงินจากโจทก์ ความจริงโจทก์นำเงินมาลงหุ้นในกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตา โดยได้รับผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในฐานะกรรมการของกองทุนผู้บริหารดังกล่าว จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวทั้งโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 80,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 5,500 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อแรกว่า จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 หรือไม่ คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238ประกอบด้วยมาตรา 247 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนในเขตอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลาและจำเลยทั้งสามได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการกองทุนผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษอำเภอบันนังสตา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน และ 31 ตุลาคม 2537 จำเลยทั้งสามในฐานะกรรมการกองทุนดังกล่าวได้กู้เงินและได้รับต้นเงินไปจากโจทก์จำนวน 50,000บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับ จำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 โจทก์ได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ตลอดมาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2540 ต่อจากนั้นไม่ได้รับดอกเบี้ยอีกเลย คณะกรรมการกองทุนผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตาไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเห็นว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการพ.ศ. 2530 เอกสารหมาย ล.1 ข้อ 13 กำหนดให้การปฏิบัติงานภายในส่วนราชการตามระเบียบนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการ และข้อ 21 ให้คณะกรรมการหรือผู้ที่คณะกรรมการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจก่อหนี้ผูกพันและอนุมัติการจ่ายเงินกองทุนสวัสดิการ จำเลยทั้งสามกู้ยืมเงินตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2ในนามและในฐานะคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตาก็ตาม แต่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นเพียงกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการเท่านั้น ไม่มีผลทำให้คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตามีสภาพเป็นนิติบุคคล ดังนั้น จำเลยทั้งสามจึงไม่อาจทำสัญญากู้ยืมเงินแทนกองทุนดังกล่าว จำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 และได้รับต้นเงินกู้ไปจากโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวแม้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2530เอกสารหมาย ล.1 ข้อ 13 จะกำหนดให้การปฏิบัติงานสวัสดิการภายในส่วนราชการตามระเบียบนี้ให้ถือเป็นการปฏิบัติราชการก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกา ฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสามจ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์อัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามอีกหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่โจทก์เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี เนื่องจากจำเลยทั้งสามผิดนัดไม่ชำระต้นเงินคืนโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ดอกเบี้ยส่วนนี้ไม่ตกเป็นโมฆะดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 มิได้กำหนดวันชำระต้นเงินคืนโจทก์ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน ดังนั้น โจทก์จะมีสิทธิได้ดอกเบี้ยต่อเมื่อได้ทวงถามและกำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสามชำระต้นเงินแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง โจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏว่าได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระต้นเงินเมื่อใด จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดนับตั้งแต่วันฟ้อง (15 กรกฎาคม 2541) เป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 นั้น จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง (15 กรกฎาคม2541) เป็นต้นไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9