ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ออกคำบังคับให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ผู้คัดค้านพร้อมบริวารย้ายออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 72331
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ภายใน 30 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นเห็นว่าอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไม่ปรากฏเหตุอันจะเข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ และมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นคดีนี้ ผู้คัดค้านต้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 61/2 ประกอบพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่มีอำนาจพิจารณา และให้ส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์พร้อมสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของผู้คัดค้านโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นทำนองว่า การที่ผู้คัดค้านไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพราะถูกข่มขู่หลอกลวงและการทำหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ข้อตกลงไม่มีผลบังคับแก่ผู้คัดค้าน ทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นอุทธรณ์ที่เข้าข้อยกเว้น ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 จึงให้รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 นายจิรเดช และผู้คัดค้าน ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 61/2 ประกอบกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553 ภายหลังผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า การยอมรับหรือการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวขัดแย้งกับที่ผู้คัดค้านอ้างไว้ในคำคัดค้านว่าเป็นข้อพิพาททางแพ่งเรื่องที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยในคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ออกคำบังคับให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ผู้คัดค้านพร้อมบริวารย้ายออกไปจากที่ดินตามโฉนดที่ดินในอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ของนายจิรเดช ส่วนผู้คัดค้านกล่าวอ้างในคำคัดค้านเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวทำนองว่าเป็นของผู้คัดค้าน โดยบิดาของผู้คัดค้านแบ่งซื้อมาจากบุคคลอื่นตั้งแต่เป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ภายหลังบุคคลดังกล่าวขายที่ดินดังกล่าวให้นายจิรเดช แต่เมื่อออกเป็นโฉนดที่ดินแล้วนายจิรเดชปฏิเสธที่จะโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้าน แม้ตามคำคัดค้านจะอ้างถึงบ้านด้วย แต่ก็เป็นสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดินพิพาทดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่วัตถุที่ประสงค์หลักอันเป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายมีข้อพิพาทกันดังนี้ เมื่อพิจารณาถึงสัญญาประนีประนอมยอมความประกอบคำร้องและคำคัดค้านแล้วย่อมเห็นได้ว่าข้อพิพาทระหว่างนายจิรเดชและผู้คัดค้านเป็นข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน เมื่อตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 61/2 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "ในอำเภอหนึ่ง ให้มีคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทของประชาชนที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอ ในเรื่องที่พิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน มรดก และข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท หรือมากกว่านั้น ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา" กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาว่ามีทุนทรัพย์เท่าใดอีก ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า กรณีเป็นเรื่องที่พิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน แม้มีทุนทรัพย์เกิน 200,000 บาท ก็สามารถไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทได้ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 61/2 วรรคหนึ่ง นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับที่ผู้คัดค้านอ้างต่อไปว่า สัญญาประนีประนอมยอมความตามคำร้องเป็นโมฆะ เนื่องจากผู้คัดค้านไม่มีเจตนาทำสัญญาดังกล่าว แต่เกิดจากฝ่ายนายจิรเดชส่งคนมาข่มขู่ก่อนวันไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททำนองว่าจะดำเนินคดีอาญาแก่บิดาของผู้คัดค้านที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าไปลักทรัพย์ของนายจิรเดช เห็นว่า การข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายนั้นถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่พึงใช้ได้ตามปกตินิยม ไม่ใช่การข่มขู่อันจะทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165 ดังนั้น ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะได้ความว่าฝ่ายของนายจิรเดชข่มขู่ผู้คัดค้านไปตามที่กล่าวอ้างมาข้างต้นหรือไม่ ก็ไม่มีผลต่อการแสดงเจตนาในการทำสัญญาของผู้คัดค้าน อุทธรณ์ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ทำนองว่าสัญญาประนีประนอมยอมความถูกยกเลิกไปแล้วจากการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 นั้น อุทธรณ์ส่วนนี้อ้างในตอนต้นทำนองว่า คู่พิพาทสามารถตกลงกันได้ในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทครั้งที่ 2 โดยมีผลของการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทคือยกเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 แต่ในตอนท้ายกลับอ้างทำนองว่าคู่พิพาทไม่สามารถตกลงกันในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทครั้งที่ 2 ได้ และทางอำเภอบรบือยังปิดบังข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยไม่แจ้งให้ผู้ร้องทราบ ซึ่งขัดแย้งกับที่อ้างในตอนต้นว่าคู่พิพาทสามารถตกลงกันได้ในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทครั้งที่ 2 อุทธรณ์ในส่วนนี้จึงขัดแย้งกันเองและเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย นอกจากนี้ข้ออ้างดังกล่าวยังขัดแย้งกับที่ผู้คัดค้านอ้างไว้ในคำคัดค้านว่า ก่อนการนัดไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทครั้งที่ 2 นั้น ทางอำเภอมีหนังสือแจ้งผู้คัดค้านว่าผู้รับมอบอำนาจของนายจิรเดชไม่ประสงค์เจรจาไกล่เกลี่ยตามสำเนาหนังสือแจ้งของอำเภอบรบือลงวันที่ 18 มกราคม 2564 อันหมายความว่า ไม่มีการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในครั้งที่ 2 แต่อย่างใด ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะไต่สวนหรือสืบพยานต่อไปก็ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่ามีการตกลงยกเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความกันในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในครั้งที่ 2 ดังที่ผู้คัดค้านอ้าง เพราะไม่ใช่ประเด็นที่ยื่นคำคัดค้านไว้ ที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำร้องและคำคัดค้านแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และให้งดการไต่สวนจึงชอบแล้ว สำหรับที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อไปว่าการกระทำของนายจิรเดชและผู้รับมอบอำนาจไม่สุจริต แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวนั้น ในข้อนี้ตามคำคัดค้านผู้คัดค้านอ้างทำนองว่า นายจิรเดชแจ้งความอันเป็นเท็จต่อนายอำเภอบรบือและคณะบุคคลผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทว่าผู้คัดค้านขายที่ดินให้แก่นายจิรเดช และแจ้งความอันเป็นเท็จต่อผู้ร้อง เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านอ้างเกี่ยวกับการขายที่ดินว่าเป็นความเท็จอันเป็นเหตุของการกระทำอันไม่สุจริตดังกล่าวนั้น เป็นข้อเท็จจริงในส่วนเนื้อหาของข้อพิพาทที่ต้องพิจารณากันในชั้นไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท แม้ผู้คัดค้านอ้างทำนองว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แต่การจะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงข้างต้นเสียก่อน ซึ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 61/2 วรรคห้า กำหนดให้สัญญาประนีประนอมยอมความที่ได้ตกลงกันตามมาตรา 61/2 วรรคสี่ มีผลเช่นเดียวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทั้งมาตรา 61/2 วรรคเจ็ด กำหนดว่า ในกรณีที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้คู่ความพิพาทอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการ และให้พนักงานอัยการดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ออกคำบังคับให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโดยให้นำกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งในคดีร้องขอให้ออกคำบังคับให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 61/2 วรรคเจ็ด ประกอบพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 42 ถึง 44 นั้น ไม่ได้ให้ผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความพิสูจน์โต้แย้งข้อเท็จจริงในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทและศาลไม่อาจตรวจสอบข้อเท็จจริงในชั้นไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินดังกล่าวนี้ซ้ำอีก กรณีจึงไม่มีเหตุให้ศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่รับบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามคำร้อง ที่ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ