ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีขับไล่ขึ้นอยู่กับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน แม้จะมีคำพิพากษาภายหลังก็เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วไม่ได้
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่าให้ออกจากห้องพิพาทซึ่งมีค่าเช่าเดือนละ 80 บาท จำเลยให้การรับว่าได้เช่าห้องพิพาทจากโจทก์จริงแต่ต่อสู้ว่าห้องพิพาทมิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่เป็นของกรมธนารักษ์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ข้อต่อสู้ของจำเลยเช่นนี้หาใช่ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1619/2506)คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 และ 247ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าห้องพิพาทยังเป็นของโจทก์อยู่ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติตามนั้น แม้ต่อมาภายหลังจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเรื่องอื่นวินิจฉัยว่าห้องพิพาทเป็นของกรมธนารักษ์กระทรวงการคลังก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงซึ่งศาลชั้นต้นฟังเป็นยุติแล้วในคดีนี้ได้
เมื่อจำเลยรับว่าได้เช่าห้องพิพาทจากโจทก์ จำเลยจะเถียงสิทธิของโจทก์ผู้ให้เช่าว่าห้องพิพาทเป็นของผู้อื่น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1531 - 1532/2499) ข้อที่จำเลยอ้างว่าได้ทำสัญญาเช่าจากกรมธนารักษ์ผู้เป็นเจ้าของแล้วจำเลยมีสิทธิจะอยู่และใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าได้นั้น เป็นข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากคดีนี้ จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก