คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ปล่อยการยึดและพิพากษาให้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทแก่ผู้ร้องโดยปลอดจำนองหรือปราศจากภาระผูกพันใด ๆ
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับ ให้ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินจากกองทรัพย์สินของจำเลยไปไถ่ถอนจำนองห้องชุดเลขที่ 39/23 ชั้นที่ 3 อาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุด ย. ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 5/2553 กรุงเทพมหานคร จากผู้คัดค้านที่ 2 แล้วโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้ร้องโดยปลอดจำนอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2550 ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเลขที่ 307 ในโครงการก่อสร้าง ย. กับจำเลย ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2550 ผู้ร้องชำระเงินค่าห้องชุดให้แก่จำเลยงวดเดียวเป็นเงิน 5,096,250 บาท โดยหักส่วนลดตามที่ตกลงกันแล้ว แต่โครงการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้ร้องภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2550 ตามที่กำหนดในสัญญา วันที่ 20 พฤษภาคม 2552 จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1112 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 จำเลยก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ พนักงานเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนอาคารชุดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 สำหรับห้องชุดพิพาทเลขที่ 307 ต่อมาจดทะเบียนเป็นห้องชุดเลขที่ 39/23 วันที่ 30 มกราคม 2557 ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยกับพวกชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเงิน 81,000,000 บาทเศษ พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระ ให้ยึดห้องชุดซึ่งรวมทั้งห้องชุดพิพาทและทรัพย์สินอื่นของจำเลยกับพวกออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบถ้วน คดีถึงที่สุด ศาลแพ่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อจัดการยึดทรัพย์สินของจำเลยกับพวกแล้ว วันที่ 5 มีนาคม 2558 ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 30,000 บาท แก่ผู้ร้อง และให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทโดยปราศจากภาระผูกพันให้แก่ผู้ร้อง หากโอนไม่ได้ให้จำเลยใช้เงิน 5,096,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ร้อง คดีถึงที่สุด หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ผู้คัดค้านที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96 (3) ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งรวมทั้งห้องชุดพิพาทด้วย คดีส่วนนี้ถึงที่สุด ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2560 ผู้ร้องยื่นคำร้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ.317/2557 เป็นคดีสาขาดำที่ ก.14/2560 ขอให้มีคำสั่งกันส่วนห้องชุดพิพาท ศาลแพ่งพิจารณาแล้วมีคำสั่งเป็นคดีสาขาแดงที่ ก.29/2560 ให้เพิกถอนการยึดห้องชุดพิพาท ผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องนำเงินจากกองทรัพย์สินของจำเลยไปไถ่ถอนจำนองห้องชุดพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 2 แล้วโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้ร้องโดยปลอดจำนองหรือไม่ ก่อนวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.317/2557 ของศาลแพ่ง เป็นคดีสาขาดำที่ ก.14/2560 เพื่อขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งกันส่วนห้องชุดพิพาทภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้วเป็นการชอบหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 252 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 28/2 วรรคสอง เห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของจำเลยย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว และทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดย่อมต้องถูกรวบรวมเข้ามาเพื่อการจัดการในคดีล้มละลายเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 แม้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.317/2557 ของศาลแพ่ง แต่เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 จะบังคับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายเท่านั้น ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 27 ซึ่งต่อมาผู้คัดค้านที่ 2 ก็ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้มีประกันด้วยการขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96 (3) การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ดำเนินการบังคับคดีในคดีแพ่งดังกล่าวโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งรวมทั้งห้องชุดพิพาทในวันที่ 15 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว เช่นนี้ ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย และผู้ร้องซึ่งอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวเนื่องกับห้องชุดพิพาทที่ถูกยึดก็ไม่อาจยื่นคำร้องขอกันส่วนเป็นคดีสาขาในคดีแพ่งดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน การที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอกันส่วนเป็นคดีสาขาดำที่ ก.14/2560 ในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.317/2557 ของศาลแพ่ง แล้วต่อมามีผลคำพิพากษาไม่ว่าในศาลชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์เป็นประการใดก็ตาม ผลคำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันคู่ความในคดีดังกล่าวรวมตลอดถึงผู้คัดค้านที่ 1 เพราะกระบวนพิจารณาในชั้นขอกันส่วนในคดีแพ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ทำขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว
สำหรับปัญหาว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องนำเงินจากกองทรัพย์สินของจำเลยไปไถ่ถอนจำนองห้องชุดพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 2 แล้วโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้ร้องโดยปลอดจำนองหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกาในทำนองเดียวกันว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทมีสิทธิดีกว่าผู้ร้องซึ่งเป็นเพียงบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่อาจบังคับคดีแก่ห้องชุดพิพาทให้กระทบกระทั่งบุริมสิทธิจำนองของผู้คัดค้านที่ 2 เหนือห้องชุดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 (เดิม) ส่วนผู้ร้องฎีกาว่า ผู้คัดค้านที่ 2 รับจำนองห้องชุดพิพาทโดยไม่สุจริต ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่จำต้องนำเงินจากกองทรัพย์สินของจำเลยไปไถ่ถอนจำนองจากผู้คัดค้านที่ 2 เห็นว่า เมื่อพิจารณาว่าจำเลยประกอบธุรกิจพัฒนาและก่อสร้างอาคารชุดเพื่อขายแก่ประชาชนทั่วไป โดยเปิดให้ประชาชนสามารถซื้อหรือจองซื้อห้องชุดได้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน ประกอบธุรกิจรับจำนองเป็นปกติ ย่อมต้องทราบในเรื่องการดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกับจำเลยเป็นอย่างดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คัดค้านที่ 2 รับจำนองห้องชุดในโครงการอาคารชุดของจำเลยในขณะที่การก่อสร้างอาคารชุดใกล้แล้วเสร็จเช่นนี้ ก่อนให้สินเชื่อแก่จำเลย ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมต้องพิจารณาสถานะกิจการของจำเลย โครงสร้างธุรกิจของจำเลย และรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะนำมาจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกัน โดยเฉพาะในกรณีที่หลักประกันเป็นห้องชุด ผู้คัดค้านที่ 2 ควรต้องตรวจสอบเกี่ยวกับการซื้อขายห้องชุดว่าเป็นไปในรูปแบบใด เป็นจำนวนเท่าใด มีการชำระราคาครบถ้วนแล้วหรือไม่อย่างไร ด้วยวิธีการใด และจำเลยมีภาระผูกพันต่อผู้ซื้อหรือผู้จองซื้อห้องชุดในโครงการอย่างไรหรือไม่ เพียงใด เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาว่าสมควรให้สินเชื่อแก่จำเลยหรือไม่ เพียงใด แต่ทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 2 ได้ความเพียงว่า ก่อนให้สินเชื่อ พนักงานสินเชื่อของผู้คัดค้านที่ 2 ได้ไปตรวจดูพบว่าห้องชุดยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และยังไม่มีผู้ใดพักอาศัยเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 2 ได้เรียกหลักฐานที่จำเลยจักต้องมีภาระผูกพันต่อผู้ซื้อหรือผู้จองซื้อห้องชุดในโครงการอาคารชุดของจำเลยมาตรวจสอบก่อนว่ามีหรือไม่เพียงใด ทั้งที่เป็นการง่ายที่จะเรียกจากจำเลยก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติการให้สินเชื่อแก่จำเลย ซึ่งหากมีการตรวจสอบโดยละเอียด ผู้คัดค้านที่ 2 ก็ย่อมสามารถทราบได้ในทันทีว่าจำเลยมีภาระผูกพันที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้ร้อง เนื่องจากผู้ร้องได้ชำระราคาห้องชุดครบถ้วนแล้ว พฤติการณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 ดังกล่าวมาไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 รับจำนองห้องชุดพิพาทไว้โดยสุจริต การกระทำของจำเลยและผู้คัดค้านที่ 2 ทำให้ผู้ร้องเสียหาย เมื่อการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 2 เป็นทางเสียเปรียบแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนในห้องชุดพิพาท ผู้ร้องจึงอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองห้องชุดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินของจำเลยจึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้ร้องโดยปลอดจำนอง ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 รับจำนองห้องชุดพิพาทโดยสุจริตดังได้วินิจฉัยแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่จำต้องนำเงินจากกองทรัพย์สินของจำเลยไปไถ่ถอนจำนองห้องชุดพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 2 การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินจากกองทรัพย์สินของจำเลยไปไถ่ถอนจำนองห้องชุดพิพาทก่อนแล้วจึงโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้ร้องโดยปลอดจำนองนั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการยึดและให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองห้องชุดเลขที่ 39/23 ชั้นที่ 3 อาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุด ย. ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 5/2553 กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 2 และให้ผู้คัดค้านที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทดังกล่าวแก่ผู้ร้องโดยปลอดจำนอง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ