ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำซ้อน-การบอกเลิกสัญญา-การลดค่าจ้าง: ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นอำนาจฟ้อง, สิทธิบอกเลิกสัญญา, และการอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าจ้างก่อสร้างอาคารพักอาศัยจากจำเลยผู้ว่าจ้าง จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์ผิดสัญญาจ้าง จำเลยเสียหายและได้บอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าปรับและค่าเสียหาย คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาจำเลยฟ้องโจทก์สำนวนหลังฐานผิดสัญญาจ้างนั้นเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้ฟ้องแย้งไว้แล้ว ดังนี้ สำนวนหลังเป็นฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173(1) เพราะเป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องเดิมที่ได้ฟ้องแย้งไว้แล้ว การที่จำเลยสงวนสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมไว้ในฟ้องแย้งไม่ก่อให้เกิดสิทธิพิเศษขึ้นแต่ประการใด ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยฟ้องสำนวนหลังให้ จึงเป็นการไม่ชอบ
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความจะมิได้หยิบยกขึ้น ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
สัญญามีกำหนดเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จเป็นงวดไว้แน่นอน และกำหนดเบี้ยปรับไว้เป็นรายวันในกรณีมีการผิดสัญญา แต่ตามที่ปฏิบัติต่อกันเมื่อโจทก์ก่อสร้างล่วงเลยเวลาที่กำหนด จำเลยก็ยอมรับเอาผลงานและชำระเงินตลอดมา ไม่ได้มีการทักท้วงหรือปรับตามสัญญาแต่อย่างใด แสดงว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาจะถือเอากำหนดเวลาก่อสร้างเป็นสารสำคัญ แม้โจทก์จะผิดสัญญาในข้อนี้จำเลยจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาทันทีไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ก่อสร้างให้เสร็จให้เสร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เสียก่อน เมื่อโจทก์ยังก่อสร้างไม่เสร็จอีก จำเลยจึงจะบอกเลิกสัญญาได้
การชำรุดบกพร่องของการก่อสร้างงวดที่ได้รับมอบงานไปแล้ว จำเลยได้แต่จะเรียกค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 แต่จะยกมาเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาหาได้ไม่
ศาลชั้นต้นลดเงินค่าจ้างโจทก์ลงมา มีผลเท่ากับให้จำเลยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายบางส่วน ในขั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นนี้เพียงว่าโจทก์ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามฟ้อง เพราะจำเลยนำสืบมีหลักฐานแน่ชัดว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยดังฟ้องศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยมิได้กล่าวโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าวินิจฉัยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายตอนใดผิดถูกอย่างใด เหตุใดจึงควรได้ค่าเสียหายตามฟ้อง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ในชั้นฎีกาจำเลยจึงได้แสดงรายละเอียดที่จำเลยได้รับความเสียหาย รายละเอียดดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย