ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาประนีประนอม-พินัยกรรม-การรับมรดก: สิทธิในที่ดินเมื่อคู่สมรสหย่าและมีพินัยกรรมยกมรดก
ข้อตกลงต่อท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ ฟ.ที่ตกลงยกที่ดินพร้อมบ้านให้แก่โจทก์ที่ 2 ผู้เป็นบุตรนั้น เป็นบันทึกข้อตกลงที่เกี่ยวกับสินสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ ฟ.และทั้งสองฝ่ายประสงค์จะระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับสินสมรส ซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นต่อไปภายหน้าให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ตามมาตรา 374 โจทก์ที่ 1 ในฐานะคู่สัญญามีสิทธิเรียกให้ ฟ.ลูกหนี้ชำระหนี้ด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 ได้ ส่วนโจทก์ที่ 2 ในฐานะบุคคลภายนอกหากแสดงเจตนาแก่ ฟ.ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น โจทก์ที่ 2ก็ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ ฟ.ชำระหนี้โดยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญานั้นให้แก่ตนได้โดยตรง ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ ฟ.เมื่อหย่ากัน แต่ละฝ่ายย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวคนละครึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 แต่โจทก์ที่ 2 ไม่ได้แสดงเจตนาแก่ ฟ.ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาในส่วนที่ดินพิพาทซึ่ง ฟ.มีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งก่อนที่ฟ.จะตาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวครึ่งหนึ่งจึงยังเป็นของ ฟ.อยู่ฟ.ย่อมแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับที่ดินนั้นในส่วนของตนเพื่อให้มีผลบังคับตามกฎหมายเมื่อตนตายได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 ฟ.ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทให้จำเลยจำเลยย่อมมีสิทธิได้รับที่ดินดังกล่าวตามส่วนที่ ฟ.มีกรรมสิทธิ์อยู่ในฐานะเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรม เมื่อ ฟ.ตาย อย่างไรก็ตามกองมรดกของผู้ตายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 นอกจากจะได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายแล้ว ยังรวมถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ด้วย แม้จำเลยจะมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวครึ่งหนึ่งอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายก็ตามแต่หน้าที่และความรับผิดที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นมรดกมีผลผูกพันให้จำเลยต้องรับผิดด้วย ดังนั้น หน้าที่และความรับผิดที่ ฟ. มีต่อโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตามบันทึกข้อตกลงในทะเบียนการหย่าซึ่งเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกจึงตกทอดมายังจำเลย และจำเลยย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกดังกล่าวด้วยการที่โจทก์ทั้งสองไปคัดค้านในขณะที่จำเลยทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไปแสดงและขอรับมรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า ฟ.ไม่มีสิทธินำเอาที่ดินพิพาทไปทำพินัยกรรมยกให้จำเลย นั้น ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกนั้นแล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ ฟ.ได้ทำกันไว้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2519 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวได้ โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2531 จึงเกินกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม) แล้ว คดีของโจทก์ที่ 1 จึงขาดอายุความ แต่คดีของโจทก์ที่ 2 ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2ไปคัดค้านการขอรับมรดกที่ดินของจำเลยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2530และโจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2531 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม) คดีของโจทก์ที่ 2จึงยังไม่ขาดอายุความ เมื่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอรับมรดกที่ดินครึ่งหนึ่งของที่ดินพิพาทและไม่มีสิทธิที่จะยึดถือโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้ต่อไป จำเลยต้องส่งมอบโฉนดที่ดินนั้นให้แก่โจทก์ที่ 2