โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340 ตรี,83 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 4,080 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี, 83 ให้ลงโทษจำคุก 15 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 4,080 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2532 เวลาประมาณ18 นาฬิกา ขณะที่ผู้เสียหายเดินเข้าไปตามซอยโรงเจน้ำเต่า เพื่อกลับบ้าน จำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่พวกของจำเลยขับสวนทางออกมา แล้วกลับเข้าไปในซอยผ่านผู้เสียหายไปมาอีกประมาณ 3 ครั้งจนกระทั่งผู้เสียหายเดินเข้าซอยไปได้ประมาณ 50 เมตร จำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่พวกของจำเลยขับสวนทางมาอีก แล้วจำเลยลงจากรถเดินเข้ามาทางด้านหน้าของผู้เสียหาย ชักอาวุธปืนสั้นออกมาจี้ที่คอผู้เสียหาย พูดขู่ไม่ให้ผู้เสียหายร้อง แล้วกระชากเอาสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองรวมราคา 4,080 บาท ของผู้เสียหายวิ่งขึ้นรถจักรยานยนต์ซึ่งพวกของจำเลยจอดรออยู่ห่างประมาณ 2 เมตรหลบหนีไป หลังเกิดเหตุผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอกอภิชิต หงษ์ทอง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางโพงพาง โดยระบุรูปพรรณของคนร้ายให้พนักงานสอบสวนทราบ ต่อมาในเดือนเดียวกันเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยกับพวกอีก 1 คน ได้ในข้อหาชิงทรัพย์คดีอื่น ปรากฏว่าจำเลยมีรูปพรรณใกล้เคียงกับคนร้ายที่ผู้เสียหายแจ้งไว้ ร้อยตำรวจเอกอภิชิตจึงเรียกให้ผู้เสียหายมาชี้ตัวจำเลยกับพวกปรากฏว่าผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยได้ถูกต้อง ร้อยตำรวจเอกอภิชิตแจ้งข้อหาจำเลยว่าร่วมกับพวกชิงทรัพย์โดยมีอาวุธปืนและใช้ยานพาหนะชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ
จำเลยนำสืบอ้างฐานที่อยู่ว่า จำเลยมีอาชีพค้าขาย ในวันเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์ไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าที่อำเภอพระประแดงกับนายพรชัย สุนทรพาที พี่เขยและนายสัมฤทธิ์ ลูกจ้าง กลับจากอำเภอพระประแดงเวลาประมาณ 18 นาฬิกา ถึงบ้านเวลาประมาณ 19 นาฬิกาแล้วมิได้ไปไหนอีก หลังจากถูกจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจให้ผู้เสียหายไปดูตัวจำเลย ครั้งแรกผู้เสียหายดูแล้วแจ้งว่า จำเลยไม่ใช่คนร้ายอีกประมาณ 1 ชั่วโมง เจ้าพนักงานตำรวจให้ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยอีกครั้ง ผู้เสียหายจึงชี้จำเลยว่าเป็นคนร้ายชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะที่ผู้เสียหายเดินเข้าไปในซอยโรงเจน้ำเต้า เห็นรถจักรยานยนต์มีคนนั่งซ้อนท้ายขับสวนทางออกมา เมื่อผู้เสียหายเดินต่อไปในซอย รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวได้ขับเข้าไปในซอยอีกสวนไปมาในระหว่างผู้เสียหายเดินประมาณ3 ครั้ง แล้วคนที่นั่งซ้อนท้ายได้ลงจากรถจักรยานยนต์เดินเข้าไปหาผู้เสียหาย ผู้เสียหายเข้าใจว่าจะเดินมาถามทาง ชายคนนั้นได้ชักอาวุธปืนสั้นจากเอว แล้วใช้จี้บริเวณคอผู้เสียหายพร้อมทั้งห้ามว่าถ้าร้องจะยิงผู้เสียหายมองหน้าคนร้าย คนร้ายกระชากสร้อยคอของผู้เสียหาย วิ่งกลับไปขึ้นรถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ห่างประมาณ2 เมตร หลบหนีไป ผู้เสียหายไปแจ้งความเหตุเกิดเวลาประมาณ 18 นาฬิกาของวันที่ 8 มีนาคม 2532 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2532 ผู้เสียหายไปดูตัวคนร้ายที่เจ้าพนักงานตำรวจจับตัวมา ผู้เสียหายดูตัวแล้วยืนยันว่าจำเลยคือคนร้าย ปัญหาคงมีว่าผู้เสียหายจดจำคนร้ายได้แน่นอนเพียงใด เห็นว่า เหตุเกิดเวลาประมาณ 18 นาฬิกา ของเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นฤดูร้อน เวลากลางวันยาวกว่าเวลากลางคืน เวลาดังกล่าวยังไม่มืด มีแสงสว่างมองเห็นได้ชัดเจน ทั้งรถจักรยานยนต์คนร้ายก็สวนไปมาถึง 3 ครั้ง จนผู้เสียหายสังเกตได้ ก่อนลงมือกระชากสร้อยคนร้ายเดินเข้าไปหาผู้เสียหาย ผู้เสียหายยังเข้าใจว่าจะเดินมาถามทางผู้เสียหายจึงมีโอกาสได้เห็นหน้าคนร้ายในระยะใกล้เมื่อคนร้ายไปถึงตัวได้ใช้อาวุธปืนจี้ พร้อมทั้งห้ามผู้เสียหายมิให้ส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือ แล้วกระชากสร้อยคอไป จึงมีระยะเวลาที่ผู้เสียหายเห็นคนร้ายนานพอสมควรที่จะจำคนร้ายได้ จึงเชื่อว่าผู้เสียหายจำคนร้ายได้แน่นอนไม่ผิดตัวที่จำเลยฎีกาว่ามีการชี้ตัวคนร้าย 2 ครั้ง ครั้งแรกผู้เสียหายมิได้ชี้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายต่อมาอีกประมาณ 1 ชั่วโมง มีการจัดให้ชี้ตัวอีกครั้งหนึ่งผู้เสียหายจึงชี้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายนั้น เป็นคำเบิกความของจำเลยปากเดียวลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างคำพยานโจทก์คือ ผู้เสียหายและร้อยตำรวจเอกอภิชิตที่ต่างเบิกความยืนยันสอดคล้องกันว่ามีการจัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวคนร้ายเพียงครั้งเดียว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.