โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 96,891 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 85,656 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงการคลัง มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการและแนวทางในการคืนเงินแก่ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่คันแรกตามที่กระทรวงการคลังเสนอสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทโตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยได้รับมอบรถยนต์วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 และเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 จำเลยยื่นคำขอใช้สิทธิขอรับภาษีสรรพสามิตคืนจากสรรพสามิตพื้นที่จันทบุรี มีข้อตกลงว่าหากจำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขจะต้องส่งคืนเงินที่ได้รับไปภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้คืนเงิน ถ้าไม่นำเงินที่ได้รับไปส่งคืนภายในกำหนดยินยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์จ่ายเงินค่าภาษีสรรพสามิตคืนให้แก่จำเลยโดยโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารออมสิน สาขาเทศบาล 2 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 จำนวนเงิน 85,656 บาท และมีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวภายใน 15 วัน จำเลยได้รับหนังสือแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 แต่จำเลยเพิกเฉย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยผิดเงื่อนไขการขอใช้สิทธิในโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกอันจะต้องคืนเงินแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจองรถยนต์ที่เช่าซื้อกับบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ก่อนคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 ให้กระทรวงการคลังดำเนินตามแนวทางการคืนเงินค่าภาษีสรรพสามิตแก่ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่คันแรกที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 แต่ในการจองรถยนต์ของจำเลยนั้นมิใช่เป็นการจองเพื่อซื้อรถยนต์จากบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์โดยตรง หากแต่เป็นการจองเพื่อนำรถยนต์ไปทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทโตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อ โดยบริษัทโตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือแก่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จนครบถ้วนแล้วนำหลักฐานการซื้อขายรถยนต์ที่ออกโดยบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ไปจดทะเบียนเป็นชื่อบริษัทโตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของรถยนต์ จากนั้นจำเลยมาทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับบริษัทโตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อซึ่งรวมดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ตอบแทนเป็นรายงวดตามที่ตกลงกัน จึงเห็นได้ว่าจำเลยเป็นเพียงผู้จองรถยนต์เพื่อนำรถยนต์ไปทำสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น หาใช่เป็นผู้ซื้อรถยนต์จากบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยตรงไม่ ทั้งโจทก์มิได้นำใบจองรถยนต์มาสืบให้เห็นว่าในใบจองรถยนต์มีรายละเอียดอะไรบ้างที่พอจะถือได้ว่าเป็นการตกลงซื้อรถยนต์แล้ว จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าการที่จำเลยจองรถยนต์เป็นการตกลงซื้อขายรถยนต์ที่สมบูรณ์แล้วดังที่โจทก์ฎีกา นอกจากนี้ตามสำเนาหนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 19 กันยายน 2554 เรื่องการคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรก กำหนดไว้ชัดเจนว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการต้องเป็นการซื้อรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 โดยมิได้ระบุถึงการจองรถยนต์ไว้ด้วย การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ให้ขยายเวลาส่งมอบรถยนต์และยื่นเอกสารสำหรับโครงการรถยนต์ใหม่คันแรก โดยมีแนวทางการดำเนินงานว่าผู้ขอใช้สิทธิต้องซื้อหรือจองรถยนต์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ตามสำเนามติคณะรัฐมนตรี และสำเนาบันทึกข้อความของสำนักมาตรฐานและพัฒนาการจัดเก็บภาษี 2 ส่วนมาตรฐานฯ 3 เรื่อง แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับเอกสารใบจองรถยนต์เพื่อการขอใช้สิทธิรถยนต์คันแรก ที่ระบุว่า ผู้ขอใช้สิทธิต้องซื้อหรือจองรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 นั้น เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งกำหนดเกี่ยวกับการจองรถยนต์ขึ้นมาใหม่ในภายหลัง เนื่องจากช่วงแรกของโครงการมีปัญหาอุทกภัย โรงงานผลิตรถยนต์และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่บางแห่งหยุดดำเนินการประมาณ 3 ถึง 6 เดือน และมีผู้สนใจซื้อรถยนต์ตามโครงการเพิ่มมากขึ้น ขณะที่บริษัทผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ได้ทันในวันที่สิ้นสุดโครงการ ส่งผลให้ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการไม่สามารถรับรถยนต์และยื่นเอกสารหลักฐานได้ทันภายในกำหนด จึงกำหนดให้ผู้ที่จองรถยนต์ไว้แล้วภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 แต่ยังไม่ได้รับมอบรถยนต์หรือจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกไม่ทันตามกำหนด และไม่สามารถยื่นเอกสารหลักฐานได้ภายในวันสิ้นสุดโครงการ สามารถนำใบจองมาขอใช้สิทธิตามโครงการรถยนต์คันแรกได้ ยิ่งกว่านั้นการที่โจทก์กำหนดคำแนะนำขั้นตอนการยื่นคำขอใช้สิทธิรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายรัฐบาล โดยแยกผู้ขอใช้สิทธิเป็น 2 กรณี คือ กรณีแรกเป็นการใช้สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่ซื้อหรือจองรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ซึ่งได้รับมอบรถยนต์ จดทะเบียนรถยนต์ และได้รับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์แล้วภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ไม่จำเป็นต้องใช้ใบจองรถยนต์เป็นหลักฐาน กรณีที่ 2 เป็นการใช้สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ที่ซื้อหรือจองรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 แต่ไม่สามารถรับมอบรถยนต์หรือไม่สามารถจดทะเบียนและรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ได้ทันภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ต้องใช้ใบจองเป็นหลักฐาน ซึ่งทั้งสองกรณีมีทั้งการซื้อเงินสดและการเช่าซื้อ แสดงว่าผู้ขอใช้สิทธิตามโครงการที่จองรถยนต์ไว้แล้วยังจะต้องซื้อหรือทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อต่อไปอีกจึงจะมีสิทธิได้รับเงินคืน ฉะนั้นการที่จำเลยจองรถยนต์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการซื้อรถยนต์ตามมติคณะรัฐมนตรีในโครงการรถยนต์คันแรกตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อจำเลยได้รับมอบรถยนต์ที่จองในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 และทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 จึงเป็นการเช่าซื้อรถยนต์ภายในระยะเวลาของโครงการ จำเลยย่อมมีสิทธิขอรับเงินค่าภาษีสรรพสามิตที่จ่ายไปคืนตามมติคณะรัฐมนตรี การใช้สิทธิขอรับเงินของจำเลยมิได้ผิดเงื่อนไขอันจะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ