โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 หลบหนี จึงพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ไปก่อนจนคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 81 จำคุก 1 ปี 6 เดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2532 จำเลยที่ 2 เข้ามอบตัวต่อสู้คดีจึงได้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 81 วรรคแรกให้ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาหรือไม่ ปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายนายสุริยนต์ ทุนร่องช้างและนายดวงแก้ว นาคิน ประจักษ์พยานโจทก์ว่า ในวันเกิดเหตุนายสุริยนต์ทราบข่าวว่านักศึกษาจะเผาวัดม่วงคำจึงเรียกประชุมสมาชิกนวพลในหมู่บ้าน และให้ผู้เสียหายไปหาข่าว ระหว่างนายสุริยนต์รอฟังข่าวอยู่ นายดวงแก้วมาบอกนายสุริยนต์ว่ามีนักศึกษา 2 คน มาที่บ้านนายทา ไชยวรรณนายสุริยนต์และนายดวงแก้วกับพวกจึงไปที่โรงเรียนบ้านม่วงคำพบจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์มานายสุริยนต์เรียกให้หยุดและถามว่าไปไหนมา จำเลยทั้งสองทิ้งรถจักรยานยนต์แล้ววิ่งไปที่บ้านนายทา ขณะนั้นผู้เสียหายและนายมงคล กันหาลิกา วิ่งไปดูเมื่อถึงบ้านนายทาพบจำเลยทั้งสองวิ่งสวนทางมา โดยจำเลยที่ 1วิ่งนำหน้าถืออาวุธปืนจำเลยที่ 2 วิ่งตามหลัง จำเลยที่ 2 ได้ร้องตะโกนว่า ยิงเลย จำเลยที่ 1 จึงใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย 1 นัดกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่หน้าท้อง ผู้เสียหายหงายหลังล้มลงไปแล้วจำเลยที่ 1 วิ่งเข้าบ้านนายทา จำเลยที่ 2 วิ่งเข้าบ้านนายขันศาลฎีกาเห็นว่า เหตุเกิดเวลากลางวัน ผู้เสียหาย นายสุริยนต์และนายดวงแก้วเห็นเหตุการณ์ในระยะใกล้ชิด ทั้งได้เบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 ประกอบกับจ่าสิบตำรวจขจรศักดิ์ ถิ่นทิพย์ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุพยานได้รับคำสั่งให้มาดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตอำเภอแม่แตง เมื่อตรวจมาถึงบริเวณวัดม่วงคำ พบชาวบ้านชุมนุมกัน สอบถามได้ความว่ามีนักศึกษาขู่จะเผาวัด ต่อมามีชายแปลกหน้า 2 คน ขับรถจักรยานยนต์เข้ามาในหมู่บ้าน เห็นนายสุริยนต์เข้าไปสอบถามชาย 2 คนนั้นทิ้งรถจักรยานยนต์วิ่งหนีไปโดยชายคนที่นั่งซ้อนท้ายถือกล่องกระดาษวิ่งนำหน้า ส่วนชายคนที่ขับรถจักรยานยนต์วิ่งตามหลัง ชาวบ้านและพยานจึงวิ่งไล่ตาม ชายคนที่วิ่งตามหลังร้องตะโกนว่ายิงเลย แล้วมีเสียงปืนดัง 1 นัด พยานวิ่งไปดักหน้าทำการจับกุมชายทั้งสองคนได้คำเบิกความของจ่าสิบตำรวจขจรศักดิ์จึงสนับสนุนคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามให้มีน้ำหนักในการรับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ได้ร้องตะโกนว่า ยิงเลยจำเลยที่ 1 จึงใช้อาวุธปืนที่ถือมายิงผู้เสียหาย ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าชาวบ้านที่ไล่จะทำร้ายจำเลยทั้งสองเป็นคนใช้อาวุธปืนยิงจำเลยทั้งสอง แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกผู้เสียหาย ไม่มีเหตุผลให้เชื่อถือได้ จึงไม่มีน้ำหนักฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์แห่งคดีจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยที่ 2 นำสืบมาเป็นที่เห็นได้ว่าการที่จำเลยทั้งสองเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านม่วงคำครั้งแรกไม่ได้มีเจตนาจะใช้อาวุธปืนยิงทำร้ายผู้ใด จนเมื่อชาวบ้านวิ่งไล่ตามจับจำเลยที่ 2 จึงตะโกนว่ายิงเลย เพื่อหลบหนีเอาตัวรอด แม้จำเลยที่ 1จะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในระยะกระชั้นชิดห่างเพียง 2 วา โดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายก็ตามก็จะถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 2 ร้องตะโกนว่า ยิงเลยแล้วจำเลยที่ 1 จึงใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายนั้น แสดงว่าจำเลยที่ 1มิได้คิดจะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายมาก่อน แต่กระทำความผิดไปเพราะจำเลยที่ 2 บอกให้ทำ การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการยุยงส่งเสริม จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ก่อให้จำเลยที่ 1กระทำความผิด แต่โจทก์กล่าวในฟ้องยืนยันว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน จึงเป็นการแตกต่างในสาระสำคัญอย่างมากย่อมลงโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 2 ร้องบอกดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนได้"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 81 ประกอบด้วยมาตรา 86 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปีไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกมาก่อน ขณะกระทำความผิดเป็นนักศึกษา แม้จำเลยที่ 2 จะหลบหนีไประหว่างพิจารณาคดีของศาล แต่ก็ไปอุปสมบทเป็นภิกษุในบวรพุทธศาสนา ปฏิบัติธรรมมาตลอดจนบัดนี้ ทั้งระหว่างอุปสมบทก็ได้กระทำความดีเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนโดยบริจาคโลหิตให้แก่สภากาชาดไทยเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์เป็นจำนวนหลายครั้งจนได้รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ 1 เข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิต กับได้อุทิศศพเพื่อการศึกษาแก่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ดังปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายฎีกาโดยโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรปรานียังไม่สมควรที่จะให้จำเลยที่ 2 ได้รับโทษถึงจำคุกเพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติธรรมเป็นภิกษุเผยแพร่ศาสนาพุทธในร่มกาสาวพัสตร์ต่อไป จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 2 ปี