โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 92, 199, 288, 366/3, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 6, 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91, 97 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 43 ทวิ, 157/1 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 42, 64 เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามและกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ระหว่างพิจารณา นาย ศ. ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นบิดานายประเสริฐ ผู้ตายที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการปลงศพ 150,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะ 150,000 บาท รวมเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
นาง ห. ผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ดูแล นายอนุชา ผู้ตายที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการปลงศพ 150,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ 200,000 บาท และค่าเสียหายทางจิตใจ 250,000 บาท รวมเป็นเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 288, 366/3, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 55, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง, 78 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42, 64 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นให้ประหารชีวิต ฐานซ่อนเร้น ย้าย ทำลายศพเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตาย ทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 366/3 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ปรับ 1,000 บาท เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม แต่ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ศาลลงโทษจำเลยให้ประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจเพิ่มโทษได้อีก ฐานทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพโดยไม่มีเหตุสมควร จำคุก 4 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง จำคุก 2 ปี 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 8 เดือน เพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 กึ่งหนึ่ง ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 12 เดือน ส่วนฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ศาลลงโทษปรับสถานเดียว จึงไม่อาจเพิ่มโทษได้ จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) กึ่งหนึ่ง ฐานฆ่าผู้อื่น คงจำคุกตลอดชีวิต ฐานทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพโดยไม่มีเหตุสมควร คงจำคุก 2 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 8 เดือน ฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 4 เดือน ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 6 เดือน ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ คงปรับ 500 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 500 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบของกลาง ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นนี้ว่า ตามวัน เวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองและใช้วัตถุของแข็งทุบผู้ตายที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย สำหรับความผิดฐานซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพเพื่อปิดบังการตาย หรือเหตุแห่งการตาย ทำให้เสียหายเคลื่อนย้าย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพโดยไม่มีเหตุอันสมควรความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตโดยไม่มีเหตุสมควร ความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับรถ ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยบันดาลโทสะหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่านางสาวพัชราภรณ์ คนรักของจำเลย บอกว่าผู้ตายทั้งสองร่วมกันข่มขืนนางสาวพัชราภรณ์ จำเลยรู้สึกโกรธจึงใช้อาวุธปืนพก ขนาด 9 มม. ยิงผู้ตายทั้งสอง แต่นางสาวพัชราภรณ์ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ไม่เคยถูกผู้ตายทั้งสองล่วงละเมิดทางเพศ และนางสาวพัชราภรณ์คนรักของจำเลยก็ไม่ได้มาเบิกความในเรื่องนี้ จำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงโดยไม่มีพยานใดมาสนับสนุนให้รับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นบันดาลโทสะมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ปลอกกระสุนปืนเล็กกล ขนาด 7.62 มม. RUSSIAN 1 ปลอกที่จำเลยมีไว้ในครอบครองนั้น เป็นปลอกกระสุนปืนที่ใช้ยิงไปแล้ว ทั้งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนำสืบให้เห็นว่าจำเลยจะใช้ปลอกกระสุนปืนของกลางไปอัดหรือใช้ประกอบให้อยู่ในสภาพเป็นเครื่องกระสุนปืนสามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุได้ ดังนั้น ปลอกกระสุนปืนของกลางจึงไม่เป็นเครื่องกระสุนปืน การที่จำเลยมีไว้ในครอบครอง จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ไม่ริบปลอกกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9