คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่งและวรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 4 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี เพิ่มโทษกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน และปรับ 533,333.33 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน และปรับ 266,666.67 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 16 เดือน และปรับ 266,666.67 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง คดีถึงที่สุด
จำเลยยื่นคำร้องขอให้กำหนดโทษใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า กรณีมีเหตุกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า "ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่ และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ... ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง..." ดังนั้น คำว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดหรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดดังกล่าวนั้น หมายถึงกฎหมายที่บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิด หรือบัญญัติถึงกำหนดโทษหรือโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ซึ่งในคดีนี้ได้แก่บทบัญญัติความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน การปรับบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นหลายกรรม หากมีการแก้ไขบทกฎหมายดังกล่าวในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดและมีผลที่จะทำให้จำเลยได้รับโทษน้อยลง ศาลก็มีอำนาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยได้ภายในเงื่อนไขของมาตรา 3 นั้น สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน การกำหนดโทษใหม่จะต้องปรากฏว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาถึงที่สุดหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง คดีนี้คำพิพากษาถึงที่สุดกำหนดโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 4 ปี และปรับ 400,000 บาท และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณสารบริสุทธิ์ 0.410 กรัม และจำหน่ายไปมีปริมาณสารบริสุทธิ์ 0.027 กรัม ซึ่งแม้จะเป็นการขายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นอันแสดงให้เห็นว่าจำเลยประกอบกิจการด้วยการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นการปกติทั่วไป อันจะถือเป็นการกระทำเพื่อการค้า การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี และปรับไม่เกิน 1,500,000 บาท ดังนั้น คำพิพากษาถึงที่สุดที่กำหนดโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ดังกล่าวจึงไม่หนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง กรณีไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) สำหรับการปรับบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นหลายกรรมนั้น เนื่องจากได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ออกใช้บังคับ โดยในมาตรา 4 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ และให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวแทน ซึ่งตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 1 ได้นิยามคำว่า "จำหน่าย" ให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อจำหน่ายด้วย ดังนั้น การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ตาม จึงเป็นความผิดอย่างเดียวกันคือจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียงกรรมเดียวบทเดียว แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดซึ่งแยกเป็นคนละฐานความผิด ดังนั้น การปรับบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นหลายกรรม จึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ซึ่งให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามประมวลกฎหมายเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง เพียงกรรมเดียว จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกคำร้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับว่า ให้กำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) เพียงกรรมเดียว ให้จำคุก 4 ปี และปรับ 400,000 บาท เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 แล้ว เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน และปรับ 533,333.33 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน และปรับ 266,666.66 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี