โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 138
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 4,500 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ร้อยโทไพรัตน์ ผู้เสียหาย ไม่มีหน้าที่นำกำลังพลไปติดตั้งป้ายในที่ดินที่เกิดเหตุ และคำสั่งที่ให้ผู้เสียหายนำกำลังพลไปติดตั้งป้ายในที่ดินที่เกิดเหตุเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้เสียหายนำกำลังพลไปติดตั้งป้ายบอกแนวเขตที่ดินในที่ดินที่เกิดเหตุจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองไม่ได้แย่งอุปกรณ์ขุดหลุมจากทหารหรือทำร้ายทหารและไม่มีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย จำเลยทั้งสองให้ทหารแสดงหลักฐานการครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 มีท่าทางไม่พอใจทหาร พูดเสียงดังให้ทหารขนสิ่งของกลับและพูดไม่สุภาพ เป็นการกระทำด้วยวาจาและท่าทาง ไม่เป็นอุปสรรคและไม่ทำให้เกิดความไม่สะดวกต่อการติดตั้งป้ายในที่ดินที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2498 แม้อำเภออรัญประเทศจำหน่ายแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ของจำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองยังคงครอบครองที่ดินเรื่อยมา และยังคงมีปัญหาโต้เถียงเรื่องสิทธิครอบครองกับทางราชการตลอดมา การที่จำเลยทั้งสองเชื่อว่าตนมีสิทธิครอบครองที่ดินและขัดขวางมิให้ผู้เสียหายติดตั้งป้ายแสดงแนวเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินที่จำเลยที่ 1 ครอบครอง จึงเป็นการปกป้องสิทธิของตัวเอง เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิตามกฎหมายที่จะกระทำได้จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 มิใช่ขาดเจตนาตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย ขอศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วย เห็นว่า จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า การที่ผู้เสียหายนำกำลังพลไปติดตั้งป้ายแสดงแนวเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือไม่ และจำเลยทั้งสองมีเจตนาขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายนำกำลังพลไปติดตั้งป้ายแสดงแนวเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ และจำเลยทั้งสองขาดเจตนาในการกระทำความผิด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์แล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ แม้จำเลยทั้งสองไม่เห็นพ้องด้วยกับเหตุผลแห่งการวินิจฉัยตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ตาม แต่เมื่อข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยทั้งสองแล้ว การวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ดังนี้ ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาจึงรับฟังเป็นยุติว่า ร้อยโทไพรัตน์ ผู้เสียหาย รักษาการผู้บังคับกองร้อยมณฑลทหารบกที่ 19 ซึ่งมีหน้าที่ดูแลใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ 407/2500 ที่กองทัพบกเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ได้รับคำสั่งด้วยวาจาจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตั้งป้ายแสดงแนวเขตที่ดินแปลงดังกล่าว วันที่ 13 มีนาคม 2561 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา ผู้เสียหายนำทหารเข้าไปในที่ดินที่เกิดเหตุเพื่อติดตั้งป้ายแสดงแนวเขตที่ดิน แต่จำเลยทั้งสองร่วมกันขัดขวางผู้เสียหายกับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่มิให้ติดตั้งป้ายแสดงแนวเขตที่ดินในที่ดินที่เกิดเหตุ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินแปลงหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ 407/2500 ที่กองทัพบกเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ ซึ่งมีการกำหนดแนวเขตที่ดินไว้ทั้งสี่ทิศก็ตาม แต่ที่ดินแปลงหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวมีเนื้อที่มากถึง 797 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา และผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ตั้งแต่ปี 2558 ทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ราชพัสดุ และเจ้าพนักงานที่ดิน ไม่สามารถรังวัดสอบเขตที่ดินแปลงหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้ เนื่องจากมีการคัดค้านจากกลุ่มชาวบ้าน แสดงให้เห็นได้ว่ากองทัพบกยังไม่ทราบแนวเขตที่ดินแปลงหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ที่อยู่ในความครอบครองดูแลของกองทัพบก ดังนี้ แม้จะฟังว่าจำเลยทั้งสองรู้ว่าที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินแปลงหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่อยู่ในความครอบครองดูแลของกองทัพบกและอำเภออรัญประเทศเพิกถอนแบบแจ้งการครอบครอบครอง (ส.ค.1) ของจำเลยทั้งสองดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินบริเวณเดียวกับที่ดินที่เกิดเหตุ จำเลยทั้งสองย่อมเข้าใจโดยสุจริตว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว และเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้จำเลยทั้งสองเชื่อว่าผู้เสียหายไม่มีสิทธิติดตั้งป้ายแสดงแนวเขตที่ดินว่าเป็นที่ดินแปลงหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่อยู่ในความครอบครองดูแลของกองทัพบก จำเลยทั้งสองหาได้จงใจฝ่าฝืนกฎหมายไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงขาดเจตนาอันเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญา จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน และยกฎีกาของจำเลยทั้งสอง