โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค365807 ค365808 และ ค417409 และให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทะเบียนเลขที่ ค365807 ค365808 และ ค417409 คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีภาพประดิษฐ์สมอเรือหรือลูกศรอยู่ระหว่างอักษรโรมัน N และ M ประกอบคำว่า นิวมอส โดยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้วกับสินค้าจำพวกที่ 25 รายการสินค้า เสื้อผ้า เสื้อกีฬา กางเกง กางเกงกีฬา รองเท้า รองเท้าบู๊ท รองเท้าแตะ ชุดเครื่องแบบนักเรียน และสินค้าจำพวกที่ 16 รายการสินค้า ถุงพลาสติก ถุงหูหิ้วทำจากกระดาษ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2543 และวันที่ 17 สิงหาคม 2553 โจทก์นำเครื่องหมายการค้าทั้งสามดังกล่าวมาใช้ในการจำหน่ายสินค้าประเภทชุดเครื่องแบบนักเรียน เสื้อ เสื้อกีฬา กางเกง กางเกงกีฬา ในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่เฮงหลีของโจทก์ จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีภาพประดิษฐ์สมอเรือโดยมีหัวนกฮูกอยู่ด้านบนระหว่างอักษรโรมัน D และ T ประกอบคำว่า Darty มอส โดยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้วกับสินค้าจำพวกที่ 25 รายการสินค้า เสื้อผ้า เสื้อ กางเกง กระโปรง รองเท้าบู๊ท รองเท้า รองเท้าแตะ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 และวันที่ 14 สิงหาคม 2557 สำหรับประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยกระทำละเมิดเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ และโจทก์เสียหายเพียงใดนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เมื่อจำเลยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วได้ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย คู่ความไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาโต้แย้ง คดีในส่วนนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
คดีนี้โจทก์ฟ้องใจความว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าภาพลูกศรอยู่ระหว่างอักษร N และ M กับคำว่า นิวมอส และเครื่องหมายการค้าภาพสมอเรือ ลูกศร อยู่ระหว่างอักษร N และ M กับคำว่า นิวมอส โดยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก่อนแล้วกับสินค้าจำพวกที่ 25 และจำพวกที่ 16 ต่อมาจำเลยนำคำว่า มอส ประกอบภาพสมอเรือไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใช้กับสินค้าประเภทชุดเครื่องแบบนักเรียน เสื้อ เสื้อกีฬา กางเกง และกางเกงกีฬา เช่นเดียวกับโจทก์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า มอส เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ซึ่งต่อมาจำเลยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามทะเบียนเลขที่ ค365807 ค365808 และ ค417409 โดยโจทก์เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวทำให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าของโจทก์ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสามดังกล่าว กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเพราะเหตุว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ประกอบกับคดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อแรกว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า มอส ดีกว่ากัน โดยไม่ปรากฏว่าคู่ความโต้แย้งคัดค้าน ดังนี้ ตามคำฟ้องโจทก์ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียจึงมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดโดยต้องร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 64 และมาตรา 65 ก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น และกรณีเห็นเป็นการสมควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในประเด็นต่อมาที่ว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า มอส ดีกว่าจำเลยตามฟ้องหรือไม่ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาในประเด็นนี้ก่อน
พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยทะเบียนเลขที่ ค365807 ค365808 และ ค417409 มีคำว่า มอส เป็นภาคส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย มีลักษณะตัวอักษรของคำว่า มอส ที่ใช้ในเครื่องหมายการค้าทั้งสามของจำเลยเป็นตัวอักษรหนา ขนาดใหญ่ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน โดยที่เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค417409 ใช้คำว่า ตรามอส ประกอบอยู่ด้วยในลักษณะเป็นการบ่งบอกยี่ห้อของสินค้า และเมื่อพิจารณาสินค้าที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามของจำเลยแล้ว พบว่าเป็นสินค้าจำพวกที่ 25 รายการสินค้า เสื้อ กางเกง กระโปรง รองเท้า รองเท้าบู๊ท รองเท้าแตะ อันเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า มอส ไว้แล้ว ซึ่งเครื่องหมายการค้าทั้งสามของโจทก์ดังกล่าวใช้คำว่า มอส เป็นภาคส่วนที่เป็นสาระสำคัญเช่นกัน ดังนี้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยดังกล่าวจึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า มอส เป็นภาคส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายเหมือนกัน ใช้กับสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ย่อมอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ กรณีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมาว่า โจทก์หรือจำเลยได้สิทธิดีกว่าในเครื่องหมายการค้า คำว่า มอส ที่ใช้กับสินค้าที่จดทะเบียนไว้แล้ว เห็นว่า จำเลยรับว่า โจทก์ได้ใช้คำว่า มอส เป็นคำประกอบในเครื่องหมายการค้าของเสื้อผ้าชุดนักเรียนของโจทก์ที่โจทก์เป็นผู้ผลิตและจัดส่งให้แก่จำเลยเพื่อนำไปจำหน่าย สอดคล้องกับทางนำสืบของโจทก์ที่ว่า โจทก์เป็นเจ้าของโรงงานผลิตเสื้อผ้าชุดนักเรียนและเคยจัดส่งเสื้อผ้าชุดนักเรียนให้แก่จำเลยเพื่อจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวตั้งแต่ปี 2543 นอกจากนี้ยังได้ความตามพยานหลักฐานของโจทก์โดยที่จำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่า โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า มอส กับสินค้าจำพวกที่ 25 รายการสินค้า ชุดเครื่องแบบนักเรียน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2543 และได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า มอส กับสินค้าจำพวกที่ 25 รายการสินค้า เสื้อ เสื้อกีฬา กางเกง กางเกงกีฬา และสินค้าจำพวกที่ 16 รายการสินค้า ถุงพลาสติก ถุงหูหิ้วทำจากกระดาษ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า มอส กับสินค้าของโจทก์ซึ่งโจทก์เป็นผู้ผลิต และได้นำสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกจำหน่ายในท้องตลาด ต่อมาโจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า มอส ก่อนที่จำเลยจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ดังนี้ โจทก์จึงได้สิทธิในเครื่องหมายการค้า คำว่า มอส ที่ใช้กับสินค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า มอส ดีกว่าจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเฉพาะทะเบียนเลขที่ ค417409 และห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค365807 และ ค365808 กับสินค้าของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ