คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 12,211,357.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 11,591,750 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยยื่นคำให้การขอให้ยกฟ้อง พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคู่ความ ในวันเดียวกันศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุสมควรเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคู่ความในคดี ให้ยกคำร้องขอของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่า บริษัทโนห์ฮิ โลจิสติคส์ จำกัด (โนห์ฮิ) ในฐานะผู้ส่งว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อมาส่งมอบให้แก่จำเลยในฐานะผู้รับตราส่ง จำเลยให้การว่า บริษัทยูนิเวอร์แซล เอ็นเนอร์ยี่ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (ยู อี อี) เคยว่าจ้างจำเลยเป็นตัวแทนในการขนส่งสินค้าที่ยู อี อี ซื้อจากยู เอ็ม เค เทคโนโลยี จำกัด (ยู เอ็ม เค) ประเทศญี่ปุ่น มายังลาดกระบัง ประเทศไทย โดยบริษัทมิตราคม จำกัด (มิตราคม) ซึ่งเป็นบริษัทในฐานะตัวแทนได้ทำสัญญากับโนห์ฮิ โนห์ฮิได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำการขนส่งสินค้า คู่สัญญาขนส่งของโจทก์คือโนห์ฮิ จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้รับตราส่ง การที่ไม่มีผู้มารับสินค้าภายในกำหนดจึงไม่ใช่ความผิดของจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดในความเสียหาย ดังนี้ เห็นว่า ตามคำให้การดังกล่าวก็ดี ตามคำร้องที่ขอให้ศาลหมายเรียกโนห์ฮิ ยู อี อี ยู เอ็ม เค และมิตราคม เข้ามาเป็นจำเลยร่วมก็ดี จำเลยอ้างแต่เพียงว่า เพื่อให้จำเลยสามารถพิสูจน์ได้ว่า จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของยู อี อี ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งที่แท้จริง โดยจำเลยไม่ได้แสดงเหตุให้เห็นว่า จำเลยอาจฟ้องหรือถูกบริษัทเช่นว่านั้นฟ้องจำเลยได้เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนและไม่มีกฎหมายบังคับให้บุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ส่วนที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า หากศาลให้จำเลยรับผิดในฐานะตัวแทนต่อโจทก์ จำเลยมีสิทธิไล่เบี้ยและได้รับค่าสินไหมทดแทนจากยู อี อี และมิตราคม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 816 นั้น เห็นว่า มาตรา 816 เป็นเรื่องตัวแทนจัดทำกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตัวแทนและเป็นเหตุให้ตัวแทนต้องเสียหาย โดยมิใช่ความผิดของตัวแทน ตัวแทนเรียกค่าสินไหมทดแทนจากตัวการได้ แต่ตามคำให้การจำเลยมิได้จัดทำกิจการอันใดแทนยู อี อี ที่จำเลยอ้างว่าเป็นตัวการ ข้ออ้างของจำเลยจึงเป็นการยกข้อกฎหมายที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่จำเลยต่อสู้ตามคำให้การ แต่ยกขึ้นอ้างเพื่อให้เข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิไล่เบี้ยเพื่อให้เข้าข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของจำเลยนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ