โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อวันที่30 พฤษภาคม 2529 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด และค้างจ่ายค่าชดเชยกับเงินส่วนแบ่งการขาย (คอมมิชชั่น) ให้โจทก์ขอให้จำเลยจ่ายเงินส่วนที่ค้างดังกล่าวกับค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ลาออกจากงานเอง จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย ทั้งจำเลยได้จ่ายเงินส่วนแบ่งการขายให้โจทก์เกินกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับแล้ว
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินส่วนแบ่งการขายที่ขาดอยู่อีก 6,193.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้ว่า จำเลยได้จ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่โจทก์เกินกว่าสิทธิที่โจทก์ได้รับฉะนั้น หากมีเงินค่าชดเชยตามกฎหมายหรือตามฟ้องโจทก์จำนวนใดที่ยังขาดอยู่ เงินที่จำเลยจ่ายเกินไปนี้ก็คุ้มกว่าเงินที่โจทก์จะได้รับตามฟ้อง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความจากเอกสารหมาย ล.8 ว่า ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 โจทก์มีสิทธิได้รับเงินส่วนแบ่งการขายเป็นเงินเพียง 8,108 บาท แต่จำเลยได้จ่ายเงินส่วนแบ่งการขายสำหรับยอดขายที่ยังเก็บเงินไม่ได้ให้แก่โจทก์เป็นการช่วยเหลือเกินไปอีกเป็นเงิน 9,351 บาทดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางไม่นำเงินส่วนแบ่งการขายที่จำเลยจ่ายเกินเป็นเงิน 9,351 บาทมาหักกับเงินส่วนแบ่งการขายซึ่งยังขาดอยู่อีกเป็นเงิน 6,193 บาท 12 สตางค์ จึงไม่ถูกต้องพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเงินส่วนแบ่งการขายจำนวน 7 เดือน โดยคิดอัตราเฉลี่ยของ 6เดือนย้อนหลังนั้นการคำนวณย้อนหลัง 6 เดือน จะต้องนำยอดของเดือนธันวาคม 2528 อีก 1 เดือนมารวมคำนวณด้วย ซึ่งคิดเฉลี่ยได้เป็นเงินเดือนละ 3,624 บาท 16 สตางค์ รวม 7 เดือนเป็นเงิน 25,369 บาท 12 สตางค์ แต่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 19,176 บาทโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเป็นเงิน 6,193 บาท12 สตางค์ เช่นนี้อุทธรณ์ของจำเลยเป็นเรื่องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยได้จ่ายเงินส่วนแบ่งการขายให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วซึ่งเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยว่า จำเลยยังจ่ายเงินส่วนแบ่งการขายให้แก่โจทก์ขาดไปอีกเป็นเงิน 6,193 บาท 12 สตางค์ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย.