คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลล้มละลายกลางพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ เรียกจำเลยที่ 4 ทั้งสองสำนวนซึ่งเป็นผู้ร้องสำนวนแรกว่าผู้ร้องที่ 1 เรียกผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 สำนวนหลังว่าผู้ร้องที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เรียกผู้คัดค้านที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นคู่ความร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งสองสำนวนว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 และเรียกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ทั้งสองสำนวนว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ตามลำดับ
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ล้มละลายเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2554 ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557 ให้ฟื้นฟูกิจการของผู้คัดค้านที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.15/2557 และเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 และผู้ร้องที่ 1 เด็ดขาด ต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 6 และวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และผู้ร้องที่ 1 ล้มละลาย
ผู้ร้องทั้งสี่ยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องในทำนองเดียวกันขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่ 1 ที่มีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนหุ้นของผู้คัดค้านที่ 2 ระหว่างผู้ร้องที่ 1 โอนให้แก่ผู้ร้องที่ 2 หมายเลขหุ้น 21850 ถึง 26249 จำนวน 4,400 หุ้น และระหว่างผู้ร้องที่ 2 โอนให้แก่ผู้ร้องที่ 3 และที่ 4
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านในทำนองเดียวกันขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้เพิกถอนการโอนหุ้นของผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 4,400 หุ้น หมายเลขหุ้น 21850 ถึง 26249 ระหว่างผู้ร้องที่ 1 ไปให้ผู้ร้องที่ 2 และระหว่างผู้ร้องที่ 2 โอนให้ผู้ร้องที่ 3 จำนวน 1,500 หุ้น หมายเลขหุ้น 23350 ถึง 24849 และระหว่างผู้ร้องที่ 2 ไปยัง ผู้ร้องที่ 4 จำนวน 1,400 หุ้น หมายเลขหุ้น 24850 ถึง 26249 และจดแจ้งชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องที่ 1 ลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นคืนดังเดิม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับผู้ร้องที่ 2 และระหว่างผู้ร้องที่ 2 กับผู้ร้องที่ 3 และที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านที่ 1 จะมีอำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ในการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย แต่วิธีการใช้อำนาจดังกล่าวก็ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้เป็นพิเศษ ดังเห็นได้จากบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 และมาตรา 115 ที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลหรือเพิกถอนการโอนในคดีล้มละลายได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ ดังนั้น หากการโอนหุ้นฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง ดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้าง การโอนหุ้นดังกล่าวก็จะเป็นการโต้แย้งสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้จากหุ้นอันเป็นทรัพย์สินของผู้ร้องที่ 1 ที่มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 109 (1) ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งต้องกระทำการแทนเจ้าหนี้เพื่อรักษาสิทธิของเจ้าหนี้และเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เข้ากองทรัพย์สินและนำมาแบ่งปันแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 และเป็นอำนาจของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 แต่ผู้เดียวที่จะดำเนินการขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นดังกล่าว แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนหุ้นเองได้นั้น ต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ไว้ การเพิกถอนการโอนหุ้นจึงต้องเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับผู้ร้องที่ 2 และระหว่างผู้ร้องที่ 2 กับผู้ร้องที่ 3 และที่ 4 ผู้คัดค้านที่ 1 จะต้องยื่นคำร้องในคดีล้มละลายเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนหุ้นโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาว่า การโอนหุ้นระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับผู้ร้องที่ 2 ฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง ตกเป็นโมฆะ ผู้ร้องที่ 2 ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นของผู้ร้องที่ 1 นิติกรรมการโอนดังกล่าวย่อมเสียเปล่ามาแต่ต้น เสมือนไม่เคยเกิดนิติกรรมนั้นขึ้น จะถือว่าผู้ร้องที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์หาได้ไม่ เพราะมิได้มีการแย่งการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนมาแต่ต้น แต่เป็นการโอนให้โดยขัดต่อกฎหมายอย่างชัดแจ้งนั้น เห็นว่า การโอนหุ้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้นเป็นคนละกรณีกับการจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เนื่องจากการที่จะพิจารณาว่าการโอนหุ้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้นต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 ส่วนการพิจารณาว่าจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แม้การโอนหุ้นระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับผู้ร้องที่ 2 ฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของบริษัทผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายห้ามมิให้ครอบครองปรปักษ์ในหุ้นดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า ผู้ร้องที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ครอบครองหุ้นโดยเจตนายึดถือเพื่อตน โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมานานกว่า 5 ปี จนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง และพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ