โจทก์ฟ้องว่า จำเลยข่มขืนใจนายเกษม บุญญาวิจิตร ผู้เสียหายให้ยอมให้หรือยอมจะให้เงิน ๒,๐๐๐ บาทแก่จำเลย โดยขู่เข็ญว่าหากไม่ยอมให้ จะเปิดเผยความลับเกี่ยวกับประวัติของผู้เสียหายซึ่งเคยกระทำความผิดพระราชบัญญัติขนส่งทางบก การเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้เสียหายรับราชการต่อไปไม่ได้ ผู้เสียหายจึงให้เงิน ๑,๕๐๐ บาทแก่จำเลยไป และยอมจะให้เงิน ๕๐๐ บาทแก่จำเลยอีก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๘
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๘ ให้จำคุก ๑ ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๑,๕๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๘ ซึ่งบัญญัติว่า 'ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ ต้องระวางโทษ...ฯลฯ' แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความจากคำของนายเกษมผู้เสียหายแต่เพียงว่า เมื่อผู้เสียหายทราบผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือว่าผู้เสียหายเคยต้องคดีมาก่อน ผู้เสียหายได้ปรึกษาจำเลย จำเลยบอกว่าสามารถช่วยผู้เสียหายได้ และจำเลยได้เรียกเงินจากผู้เสียหาย ๑,๕๐๐ บาท โดยอ้างว่าจะให้เจ้านายของจำเลยลงชื่อรับรองให้ แล้วผู้เสียหายจึงได้ไปหาเงินมาให้จำเลย ซึ่งตามคำของผู้เสียหายดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ขู่เข็ญผู้เสียหายว่าจะเปิดเผยความลับแต่อย่างใด คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยได้เรียกและรับเงินจากผู้เสียหายโดยอ้างว่าสามารถช่วยจำเลยได้ โดยจะให้เจ้านายของจำเลยลงชื่อรับรองให้ การกระทำของจำเลยถึงหากจะเป็นความจริงดังที่ผู้เสียหายเบิกความ กรณีก็ไม่ใช่เป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับอันจะเป็นความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๘ ดังโจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน