โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 8,553,290.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 7,459,157.66 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 และยึดหรืออายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 8,553,290.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 7,459,157.66 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 สิงหาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ 8,553,290.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 7,459,157.66 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด (วันที่ 28 มิถุนายน 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณแล้วต้องไม่เกิน 60 วัน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือจำเลยที่ 2 ไม่ชำระในส่วนของตนให้ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1118 และ 1408 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระ หากได้เงินไม่พอชำระให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 จนครบ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนของจำเลยที่ 2 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าวแก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงิน 10,400,000 บาท ตกลงรับเงินกู้เป็นงวด ๆ ซึ่งมีการเบิกเงินกู้ไปทั้งสิ้น 4 ครั้ง เป็นเงิน 8,700,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 วงเงิน 10,400,000 บาท และจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1118 และ 1409 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้สินต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,400,000 บาท ตกลงว่าหากบังคับจำนองแล้วเงินขาดอยู่จำนวนเท่าใด จำเลยที่ 3 ยอมรับผิดใช้เงินที่ขาดให้แก่โจทก์จนครบถ้วน แต่จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้คืนไม่ตรงตามสัญญาและผิดนัด จำเลยที่ 1 จึงทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 และวันที่ 26 กันยายน 2560 แต่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ตรงตามสัญญาและผิดนัด โดยชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 30 เมษายน 2561 ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสามแล้ว ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันนอกเหนือจากสัญญาจำนองอีกฉบับอันมีผลให้จำเลยที่ 3 ผู้จำนองต้องรับผิดอย่างผู้ค้ำประกันย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 727/1 วรรคสอง โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 ได้ โดยจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดไม่เกินราคาทรัพย์สินในเวลาที่บังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุด โดยพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 8,553,290.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 7,459,157.66 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 สิงหาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 จนครบ โจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ไม่อุทธรณ์ในปัญหานี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ตรงตามสัญญาแต่โจทก์ให้โอกาสจำเลยที่ 1 โดยทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นเพียงกำหนดเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้และระยะเวลาการชำระหนี้ใหม่ คู่สัญญาคงต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญาที่ทำไว้เดิม เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครั้งที่ 2 โดยชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 30 เมษายน 2561 ต้องถือว่านับถัดจากวันดังกล่าวเป็นวันผิดนัดของจำเลยที่ 1 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้นั้น และจำเลยที่ 2 ได้รับวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 เป็นการบอกกล่าวภายใน 60 วัน นับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในส่วนของดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ขออนุญาตฎีกา ปัญหาข้างต้นจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ได้กำหนดในคำพิพากษาให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์เสียสิทธิในการบังคับทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า แม้ข้อตกลงที่ให้รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะแต่จำเลยที่ 2 ก็ยังต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันในภาระหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ ซึ่งหากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้โจทก์ก็สามารถบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จนครบได้ แต่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้ระบุในคำพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ไว้ด้วย ทำให้โจทก์เสียสิทธิในการบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ขอให้พิพากษาเป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นให้บังคับยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ให้บังคับยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 นำมาขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินของตนเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดจำนวนหากขายทอดตลาดที่ดินทรัพย์จำนองได้เงินน้อยกว่าที่ค้างชำระจนครบถ้วน แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 727/1 จึงตกเป็นโมฆะ อันมีผลให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จำนองในเวลาที่บังคับจำนอง แต่กรณีดังกล่าวหาได้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 2 จึงยังคงมีความผูกพันในอันที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน แม้จะไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ก็ตาม เช่นนี้หากขายทอดตลาดที่ดินทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 แล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่จำต้องระบุในท่อนพิพากษาว่าหากบังคับจำนองเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แล้ว ได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ในกรณีที่ขายทอดตลาดที่ดินทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 แล้วได้เงินไม่พอชำระนั้น อาจทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการตีความในชั้นบังคับคดีในส่วนจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขโดยระบุให้ชัดเจน ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นพิมพ์เลขที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ทรัพย์จำนองผิด และโจทก์อุทธรณ์โดยผิดหลงระบุเลขที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ขอให้ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องนั้น เห็นว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1118 และ 1408 เป็นกรณีที่มีการพิมพ์ผิดไปจากที่โจทก์ฟ้องและนำสืบสัญญาจำนองที่ดิน ซึ่งเป็นข้อผิดหลงเล็กน้อย และการแก้ไขข้อผิดหลงดังกล่าวไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1118 และ 1409 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์จนครบ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์จนครบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ