โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352, 354 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 207,183.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธในคดีส่วนอาญา และให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 1 และนายละอองผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายได้รับรองแล้วจึงเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627, 1629 (1) ในคดีร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคู่ความและทายาทของผู้ตายทุกคนตกลงร่วมยินยอมให้โจทก์ที่ 1 มีส่วนในทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่าทายาทชั้นบุตร รวมเป็น 9 ส่วน โดยทรัพย์มรดกที่รวบรวมได้มีทั้งหมด 10 รายการ และโจทก์ที่ 1 ยินยอมรับทรัพย์มรดกตามข้อตกลง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ภายหลังโจทก์ที่ 1 ฟ้องจำเลยทั้งสามกับพวกขอให้แบ่งทรัพย์สินที่โจทก์ที่ 1 กับผู้ตายทำมาหาได้ร่วมกัน ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2561 มีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2561 มีการนัดประชุมทายาท
คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามฐานยักยอกทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แม้ตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามจะได้ความว่าจำเลยทั้งสามและทายาทของผู้ตายตกลงยินยอมให้โจทก์ที่ 1 มีส่วนในทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่าทายาทชั้นบุตรก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างคู่ความและผู้มีส่วนได้เสียในทางแพ่ง ไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 เปลี่ยนสถานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ เพราะการเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายหาใช่เกิดขึ้นโดยข้อตกลงระหว่างทายาทด้วยกันเองไม่ สำหรับความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 บุคคลที่จะเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าว ได้แก่ บรรดาทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเท่านั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะส่วนตัวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามมานั้นชอบหรือไม่ ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า โจทก์ที่ 1 กับจำเลยทั้งสามและทายาททุกคนได้แถลงร่วมกันว่าทรัพย์มรดกมีทั้งหมด 10 รายการ ตามที่ระบุในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น และทรัพย์มรดกตามฟ้องข้อ 6.1 รถตักสีฟ้าหรือสีออกเขียว และข้อ 6.9 ปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยขี้เป็ด จำเลยทั้งสามได้แจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบแล้วก่อน นำออกขาย คงมีเฉพาะทรัพย์มรดกตามฟ้องข้อ 6.2 ถึง 6.8 เท่านั้น ที่จำเลยทั้งสามได้ขายไปก่อนที่จะแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบ ซึ่งแม้ไม่ตรงกับที่ตกลงกันไว้ ก็ถือว่าเป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตามสัญญาทางแพ่งเท่านั้น แต่ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ของการเป็นผู้จัดการมรดก เพราะหลังจากที่มีการขายทรัพย์มรดกแล้ว จำเลยทั้งสามได้แบ่งเงินที่ได้จากการขายทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 824,210 บาท และทายาทตามที่ตกลงกันแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามมีการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานยักยอกตามฟ้องได้ สำหรับคดีส่วนแพ่ง เมื่อคดีส่วนอาญาฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานยักยอก โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสามคืนเงินตามคำขอได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ