โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่งและวรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 1,200 บาท รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 1,200 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 600 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ให้ลงโทษปรับ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษปรับ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวมปรับ 20,000 บาท ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 10,000 บาท เมื่อรวมกับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 9 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 1 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 24 ชั่วโมง ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกประเภท และให้จำเลยไปบำบัดรักษาอาการติดยาเสพติด ณ โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่พนักงานคุมประพฤติกำหนดจนกว่าจะเลิกเสพได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ไม่ปรับบทลงโทษฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ปรับบทและลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 72 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า แม้จำเลยมีกระสุนปืนลูกซอง ขนาด 12 จำนวน 1 นัด และกระสุนปืนลูกกรด ขนาด .22 LONG RIFLE จำนวน 1 นัด กับมีอาวุธปืนประจุปาก (ปืนแก็ป) 2 กระบอก ตามฟ้องไว้ในครอบครองในวันเวลาเดียวกัน แต่กระสุนปืนดังกล่าวไม่ใช้สำหรับปืนประจุปาก (ปืนแก๊ป) จำเลยจึงมีความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต อีกกระทงหนึ่ง เห็นว่า กระสุนปืนของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองในคดีนี้มีทั้งกระสุนปืนที่ใช้สำหรับปืนประจุปาก (ปืนแก๊ป) ขนาดความกว้างปากลำกล้องประมาณ 10 มิลลิเมตร ของกลาง และกระสุนปืนลูกซอง ขนาด 12 กับกระสุนปืนลูกกรด ขนาด .22 LONG RIFLE ซึ่งเป็นคนละขนาดกับปืนประจุปาก (ปืนแก๊ป) ของกลาง การกระทำของจำเลยนอกจากจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง แล้วยังเป็นความผิดตามมาตรา 72 วรรคสอง อีกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้ปรับบทลงโทษตามมาตรา 72 วรรคสอง มาด้วยนั้น จึงยังไม่ถูกต้อง แต่ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืน (กระสุนปืนลูกซอง ขนาด 12 กับกระสุนปืนลูกกรด ขนาด .22 LONG RIFLE) และเครื่องกระสุนปืน (กระสุนปืนที่ใช้สำหรับปืนประจุปาก (ปืนแก๊ป)) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้นเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้เป็นความผิดในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ วัตถุที่ต้องห้ามนั้นไม่ว่าจะเป็นอาวุธปืน ก็ดี หรือเครื่องกระสุนปืน ก็ดี กฎหมายถือว่าเป็นวัตถุประเภทเดียวกันโดยบัญญัติบทความผิดกับบทลงโทษอยู่ในบทมาตราเดียวกันคือมาตรา 7 กับมาตรา 72 เมื่อจำเลยมีไว้ในครอบครองในขณะเดียวกันจึงเป็นการกระทำกรรมเดียว แม้โจทก์จะแยกบรรยายการกระทำผิดดังกล่าวของจำเลยมาในฟ้องเป็นข้อ ข. และข้อ ค. เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันและจำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม ศาลจะลงโทษจำเลยหลายกรรมเป็นกระทงความผิดไม่ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 4 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 104 บัญญัติความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนไว้เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57 แต่ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามประมวลกฎหมายยาเสพติดมีระวางโทษตามมาตรา 162 ให้จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 ที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น จึงต้องใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 104, 162 ซึ่งใช้ในภายหลังการกระทำความผิดซึ่งเป็นคุณมากกว่าบังคับแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 อย่างไรก็ตาม โทษปรับที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมาเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขให้เบาลงอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืน (กระสุนปืนลูกซองขนาด 12 กับกระสุนปืนลูกกรด ขนาด .22 LONG RIFLE) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 72 วรรคสอง อีกบทหนึ่ง อันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน (กระสุนปืนที่ใช้สำหรับปืนประจุปาก (ปืนแก๊ป)) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และจำเลยมีความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 104, 162 ส่วนโทษจำคุกและปรับ การรอการลงโทษจำคุก การคุมความประพฤติ กับเงื่อนไขการคุมความประพฤติ และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์