โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงจำเลยทั้งสามโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 264, 267, 268 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 และนับโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7143/2561 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นางณิชาภา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 (เดิม), 264 วรรคแรก (เดิม), 267 (เดิม), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 (เดิม), 83 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (1) (2) การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ จำคุกคนละ 1 ปี ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันปลอมเอกสารและร่วมกันใช้เอกสารปลอม จำเลยทั้งสามเป็นตัวการร่วมกันปลอมและใช้เอกสารที่ปลอมขึ้นเอง ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 (เดิม) จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำเลยที่ 1 และที่ 3 จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 2 จำคุก 4 ปี คำเบิกความของจำเลยที่ 2 และคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทงละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี 3 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7143/2561 ของศาลชั้นต้น ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า เดิมโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นกรรมการแต่เพียงผู้เดียวซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนของบริษัท พ. ซึ่งบริษัทดังกล่าวดำเนินกิจการเกี่ยวกับการรับจ้างขุดดิน ถมดิน ประมาณปี 2556 นายทวีศักดิ์ ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทได้แนะนำให้โจทก์ร่วมรู้จักจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าติดต่อขายสนามกอล์ฟ ก. เนื่องจากได้ทราบว่าโจทก์ร่วมสนใจที่จะซื้อสนามกอล์ฟดังกล่าวในนามของบริษัท พ. ต่อมานายทวีศักดิ์ได้แนะนำให้โจทก์ร่วมรู้จักจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายหน้า และดำเนินกิจการเกี่ยวกับการขุดดิน ถมดินเช่นเดียวกัน และจำเลยที่ 1 แนะนำให้โจทก์ร่วมรู้จักจำเลยที่ 2 จนได้มีการชักชวนให้เข้ามาลงทุนร่วมกับโจทก์ร่วมในกิจการของบริษัท พ. โดยจำเลยที่ 2 นำเงินเข้ามาร่วมลงทุน 10,000,000 บาท จึงได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นบางส่วน และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท พ. ร่วมกับโจทก์ร่วมด้วย นอกจากนี้โจทก์ร่วมยังได้เข้าลงทุนในบริษัท อ. ร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ที่ 3 และนายพิศิษฐ์หรือพลพิสิทธิ์ ได้นัดและไปพบกันที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดชลบุรี ได้มีการยื่นเอกสารเป็นหนังสือมอบอำนาจ คำขอจดทะเบียนแก้ไขจำนวนกรรมการบริษัท รายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม และ/หรือมติพิเศษ ใบกรรมการเข้าใหม่ คำร้องขอจดทะเบียน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 โจทก์ร่วม และนายพิศิษฐ์ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวสมาชิกสภาทนายความของนายพิศิษฐ์ ต่อนางสาวบังอร นายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดชลบุรี เพื่อขอจดทะเบียนแก้ไขจำนวนผู้ถือหุ้น และเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท พ. โดยเอาชื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 ออก และให้จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทได้ ซึ่งนางสาวบังอรได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อมูลของบริษัท พ. ให้ตามที่ขอเพราะเชื่อถือตามเอกสารหลักฐานที่ยื่นขอดังกล่าว คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาจึงถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประการแรกว่า เอกสารหมาย จ.1 จ.2 จ.4 และ จ.6 เป็นเอกสารที่สามารถรับฟังได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า กองบังคับการปราบปรามนั้น ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดอาญา และความผิดที่มีโทษทางอาญาทั่วราชอาณาจักร หรือตามที่ได้รับมอบหมาย พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามจึงมีอำนาจสอบสวนคดีได้ทั่วราชอาณาจักรตามกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่เพื่อที่จะไม่ให้ขัดแย้งหรือซ้ำซ้อนกับอำนาจของพนักงานสอบสวนในพื้นที่เกิดเหตุโดยตรง จึงมีระเบียบภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง กำหนดให้คดีในลักษณะต่าง ๆ ที่ถือว่ามีความสำคัญหรือยุ่งยากเป็นพิเศษ เพื่อให้อยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม เช่น เป็นคดีที่สำคัญในลักษณะต่าง ๆ ทุนทรัพย์สูงมาก หรือมีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และต้องได้รับอนุญาตให้ทำการสอบสวนโดยเฉพาะด้วย โดยเมื่อได้มีการรับเรื่องร้องทุกข์ไว้ดำเนินการแล้ว พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามก็มีอำนาจทำการสอบสวนไปได้ก่อนในเบื้องต้นพร้อมทั้งทำเรื่องรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อทราบและให้มีคำสั่งอนุญาตให้ทำการสอบสวนต่อไปตามระเบียบ ดังนั้น เอกสารที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามรวบรวมไว้ ย่อมเป็นเอกสารที่ได้มาโดยถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย แม้ภายหลังผู้บังคับบัญชาจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทำการสอบสวนต่อไป ก็เป็นเพียงเรื่องภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีระเบียบกำหนดให้คดีในลักษณะดังกล่าวต้องมีการส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุดำเนินการต่อไปเท่านั้น ซึ่งในคดีนี้ก็ได้ความว่า หลังจากผู้บังคับบัญชามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทำการสอบสวน พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามก็ได้มีการส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรีดำเนินการต่อแล้ว โดยได้ส่งเอกสารต่าง ๆ ที่ได้รวบรวมไว้เป็นพยานหลักฐานก่อนแล้วไปให้พร้อมกันด้วย และต่อมาพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรี ก็ได้มีการเรียกโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายให้มาดำเนินการร้องทุกข์ใหม่อีกครั้งหนึ่งด้วย ในลักษณะที่คล้ายกับว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรีเริ่มดำเนินการสอบสวนใหม่เองทั้งหมด ส่วนเอกสารหลักฐานที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามส่งมาให้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรีก็รวบรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนในลักษณะเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่ง เพื่อนำมาใช้พิจารณาประกอบดุลพินิจในการสั่งสำนวนเท่านั้น หากเห็นว่ายังขาดตกบกพร่องอยู่ในส่วนใดก็สามารถใช้ดุลพินิจดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหรือสอบสวนใหม่ได้ โดยเรียกเอกสารหรือพยานบุคคลมาให้ปากคำเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นจนเห็นว่าเพียงพอที่สามารถใช้ดุลพินิจสั่งคดีได้ หรือหากเห็นว่าหลักฐานที่รวบรวมไว้โดยพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามและส่งมาให้รวมไว้ในสำนวนการสอบสวนมีความชัดเจนเพียงพอแล้ว ก็สามารถใช้เอกสารหลักฐานดังกล่าวเป็นหลักฐานในสำนวนการสอบสวนต่อไปเพื่อใช้ประกอบดุลพินิจในการสั่งคดีได้ โดยไม่ต้องทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้เช่นเดียวกัน สำหรับเอกสารหมาย จ.1 จ.2 จ.4 และ จ.6 โดยข้อเท็จจริงแล้ว เป็นเอกสารซึ่งพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามส่งหลักฐานเกี่ยวกับลายมือชื่อของโจทก์ร่วมไปให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการกองพิสูจน์หลักฐานทำการตรวจพิสูจน์ เนื่องจากขณะโจทก์ร่วมแจ้งความไว้นั้น ได้ยืนยันว่าลายมือชื่อของโจทก์ร่วมที่ลงไว้ในเอกสารต่าง ๆ ที่ยื่นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดชลบุรีในขณะเกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นลายมือชื่อปลอม เนื่องจากโจทก์ร่วมไม่เคยลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงต้องส่งไปให้ผู้ชำนาญการตรวจพิสูจน์เพื่อจะได้ทราบว่าลายมือชื่อที่โจทก์ร่วมอ้างนั้นเป็นลายมือชื่อปลอมตามที่อ้างจริงหรือไม่ โดยที่ผู้ชำนาญการของกองพิสูจน์หลักฐานเป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติงานไปตามอำนาจหน้าที่ ก็ได้ทำการตรวจพิสูจน์ตามหลักวิชาการและทำความเห็นไว้ตามอำนาจหน้าที่ของตนโดยถูกต้องแล้ว ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่จะทำให้มีข้อสงสัยว่าการตรวจพิสูจน์ดำเนินการโดยไม่ถูกต้องหรือดำเนินการไปโดยผิดกฎหมายแต่อย่างใด และที่สำคัญเอกสารรายงานการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวย่อมเป็นเพียงพยานหลักฐานชิ้นหนึ่งเท่านั้น ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ยังคงต้องใช้ดุลพินิจในการรับฟังเอกสารดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นเพื่อสั่งคดีด้วย ไม่ใช่จะใช้เฉพาะรายงานการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวเพียงอย่างเดียวเท่านั้นในการสั่งคดี ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรีเห็นว่าเอกสารที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามส่งมอบมาให้ในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของโจทก์ร่วมดังกล่าวเพียงพอแล้ว ก็สามารถใช้เอกสารรายงานการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่ง โดยนำรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนได้ เอกสารหมาย จ.1 จ.2 จ.4 และ จ.6 จึงเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานเอกสารเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของโจทก์ร่วมดังกล่าวย่อมเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น และคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ โดยที่จำเลยที่ 2 ยอมรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งมีการนำไปยื่นต่อนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดชลบุรี เพื่อให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายชื่อผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท พ. จริง โดยที่จำเลยที่ 2 ไม่ทราบมาก่อนว่าลายมือชื่อของโจทก์ร่วมที่ได้ลงไว้ก่อนแล้วนั้นเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ จำเลยที่ 2 เพียงแต่ลงลายมือชื่อไปเพื่อต้องการโอนหุ้นในส่วนของจำเลยที่ 2 เองให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อหักกลบลบหนี้ค่าซื้อขายยางพาราที่ค้างชำระอยู่แก่จำเลยที่ 1 รวมประมาณ 10,000,000 บาท เท่านั้น แม้พยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาจะไม่มีพยานหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในเอกสารหมาย จ.4 แต่เนื่องจากคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันปลอมลายมือชื่อและใช้ลายมือชื่อปลอมของโจทก์ร่วมตามเอกสารหมาย จ.4 ในการยื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนของบริษัท พ. คดีจึงต้องวินิจฉัยในชั้นนี้เพียงว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในการกระทำความผิดดังกล่าวด้วยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้จักสนิทสนมกันมาก่อน จนถึงขนาดที่ทำให้โจทก์ร่วมเข้าใจว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากัน การที่จำเลยที่ 2 รู้จักและเข้าไปร่วมงานกับโจทก์ร่วมได้ก็โดยการแนะนำของจำเลยที่ 1 โดยขณะนั้นโจทก์ร่วมซึ่งเป็นกรรมการเพียงผู้เดียวที่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท พ. กำลังดำเนินการเพื่อต้องการซื้อโครงการสนามกอล์ฟ ก. ซึ่งการซื้อสนามกอล์ฟดังกล่าวต้องดำเนินการในชื่อของบริษัท พ. เท่านั้น เนื่องจากเป็นคู่สัญญาโดยทำข้อตกลงกันไว้แล้วตามเอกสารหมาย จ.9 จึงชักชวนให้จำเลยที่ 2 เข้ามาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ตกลงและได้มีการโอนเงินลงทุนบางส่วนให้แล้วจำนวน 10,000,000 บาท โจทก์ร่วมก็โอนหุ้นในบริษัทบางส่วน 5,000 หุ้น ให้จำเลยที่ 2 รวมถึงยินยอมจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทร่วมกับโจทก์ร่วมด้วย วัตถุประสงค์หลักที่ตกลงร่วมกันระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 ก็คือเพื่อที่ต้องการจะร่วมกันดำเนินกิจการในสนามกอล์ฟ ก. นั่นเอง นอกจากนี้โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 ยังร่วมกันดำเนินกิจการในบริษัท อ. ด้วย ซึ่งบริษัทดังกล่าวก็ดำเนินกิจการในลักษณะเดียวกันกับบริษัท พ. โดยโจทก์ร่วมก็โอนเงินลงทุนให้จำเลยที่ 2 จำนวน 14,000,000 บาท จึงได้มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการในบริษัท อ. แล้วเช่นกันตามเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 ต่อมาภายหลังปรากฏว่ามีปัญหาขัดแย้งกัน โจทก์ร่วมได้โอนหุ้นในบริษัท อ. จำกัด ตามที่ตกลงกันคืนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยให้ใส่ไว้ในชื่อนายธงชัย บุตรของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ร่วมอ้างว่าเป็นไปตามข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 ก็จะต้องโอนหุ้นของตนในบริษัท พ. คืนให้โจทก์ร่วมเป็นการตอบแทนเช่นเดียวกัน แต่จำเลยที่ 2 อ้างว่าไม่เคยมีข้อตกลงดังกล่าว เพียงโจทก์ร่วมได้ขายหุ้นในบริษัท อ. ให้กับจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ให้ใส่ชื่อนายธงชัยไว้แทนเท่านั้น จำเลยที่ 2 โอนหุ้นในบริษัท พ. ให้จำเลยที่ 1 เพียงเพื่อหักหนี้ค่าซื้อขายยางพาราที่มีต่อกัน โดยจำเลยที่ 1 แจ้งให้ทราบก่อนแล้วว่าโจทก์ร่วมจะโอนหุ้นของโจทก์ร่วมในบริษัท พ. ให้จำเลยที่ 1 เพื่อตอบแทนที่จำเลยที่ 1 รับสมอ้างยอมเป็นผู้ต้องหาแทนโจทก์ร่วมในคดีเกี่ยวกับการขุดทรายในจังหวัดระยอง จำเลยที่ 2 จึงลงชื่อในเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งคนส่งเอกสารนำมาให้ลงชื่อ โดยเห็นว่าเอกสารต่าง ๆ มีลายมือชื่อโจทก์ร่วมลงไว้ก่อน พร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทไว้ครบถ้วนแล้ว เห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 มีความสนิทสนมกับจำเลยที่ 1 มาก ทำธุรกิจการค้าร่วมกันในวงเงินจำนวนมาก มีหนี้สินต่อกันมากกว่า 10,000,000 บาท โดยไม่ได้มีหลักฐานใด ๆ ต่อกันเลย การโอนหุ้นในบริษัทไปให้จำเลยที่ 1 ที่อ้างว่าเพื่อหักกลบลบหนี้กันมากถึงประมาณ 10,000,000 บาท ก็ไม่มีการทำหลักฐานหรือบันทึกข้อตกลงใด ๆ และสำหรับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 3 ก็ปรากฏว่า ภายหลังจำเลยที่ 2 ไว้วางใจจำเลยที่ 3 อย่างมาก โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 3 ฟ้องร้องโจทก์ร่วมแทนด้วยตามเอกสารหมาย จ.21 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามมีความสนิทสนมกัน ทำธุรกิจการค้าขายร่วมกันตลอดมา โดยเฉพาะการเข้ามาทำกิจการที่เกี่ยวข้องกับบริษัท พ. ก็มีเจตนาร่วมกันเพื่อจะได้สิทธิในการซื้อกิจการสนามกอล์ฟ ก. นั้น ซึ่งข้อนี้ฝ่ายจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับตรงกันว่า การจะได้สิทธิในการซื้อสนามกอล์ฟ ก. ต้องดำเนินการโดยบริษัท พ. เท่านั้น จำเลยที่ 2 อ้างว่า การลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.4 เพียงเพื่อต้องการโอนหุ้นของตนในบริษัทให้จำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.4 เป็นการขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อมูลของบริษัทหลายอย่าง รวมทั้งมีการโอนหุ้นของโจทก์ร่วมทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งจำเลยที่ 2 อ้างว่าทราบจากจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ร่วมจะโอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 ก่อนประมาณ 2 เดือนแล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลที่จะต้องมาดำเนินการจดทะเบียนพร้อมกับการโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 เช่นนี้ ทั้งที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท จากโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 มาเป็นจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว ซึ่งการที่ให้จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทแต่เพียงผู้เดียวเช่นนี้ ย่อมเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ได้สิทธิในการเป็นผู้ซื้อสนามกอล์ฟ ก. แล้วนั่นเอง นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 1 ส่งสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 ตามเอกสารหมาย จ.7 หน้า 37 และหน้า 38 แสดงให้เห็นว่าเป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว เพราะขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้เป็นกรรมการของบริษัท พ. แต่อย่างใด โดยข้อเท็จจริงเพิ่งมีการยื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงตามเอกสารหมาย จ.4 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 เท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทร่วมกับโจทก์ร่วม แต่กลับขอให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการเป็นจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเช่นนี้ จำเลยที่ 2 ควรต้องสอบถามโจทก์ร่วมก่อนว่าต้องการดำเนินการดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่มีการสอบถามหรือแจ้งให้โจทก์ร่วมทราบ ตรงกันข้ามจำเลยที่ 2 กลับอ้างว่าก่อนลงชื่อในเอกสารได้โทรศัพท์ไปสอบถามจำเลยที่ 1 และลงชื่อให้ตามที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้ลงชื่อ ยิ่งแสดงให้เห็นแน่ชัดว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่สำคัญข้อความในเอกสารหมาย จ.4 ที่ขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อมูลของบริษัทนั้น อ้างถึงการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ครั้งที่ 1/2557 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2557 ซึ่งระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นประธานในที่ประชุม จำเลยที่ 2 ย่อมต้องทราบดีอยู่แล้วว่าข้อเท็จจริงไม่ได้มีการประชุมตามที่ระบุในเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด แต่จำเลยที่ 2 กลับยินยอมลงลายมือชื่อในเอกสารให้ไปทั้ง ๆ ที่รู้ดีอยู่แล้วว่าไม่ได้มีการประชุมตามที่ระบุในเอกสาร ย่อมทำให้เห็นแน่ชัดยิ่งขึ้นว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นยินยอมด้วยกับจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 ได้บริษัท พ. ของโจทก์ร่วมไป ซึ่งภายหลังเมื่อได้ทราบข้อเท็จจริงแล้ว โจทก์ร่วมก็ได้ดำเนินการฟ้องเป็นคดีแพ่ง จนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อมูลของบริษัท พ. ที่ดำเนินการโดยอาศัยเอกสารหมาย จ.4 แล้ว ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.24 นอกจากนี้ข้ออ้างที่ว่าจำเลยที่ 1 รับสมอ้างยอมเป็นผู้ต้องหาแทนโจทก์ร่วมเกี่ยวกับการขุดทรายที่จังหวัดระยองก็ไม่สมเหตุผล โจทก์ร่วมลงทุนมากมายเพื่อให้ได้สิทธิในการซื้อโครงการสนามกอล์ฟ ก. ในชื่อบริษัท พ. ย่อมไม่สมเหตุผลที่โจทก์ร่วมจะยินยอมยกบริษัทดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 เพียงแค่ตอบแทนที่จำเลยที่ 1 รับสมอ้างเป็นผู้ต้องหาแทนเท่านั้น เนื่องจากในความผิดเกี่ยวกับการขุดทรายดังกล่าว สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองแจ้งให้ทราบแล้วว่า คดีดังกล่าวคณะกรรมการเปรียบเทียบคดีสามารถเปรียบเทียบปรับได้ และจะส่งผลให้คดีเสร็จเด็ดขาดนำมาฟ้องร้องอีกไม่ได้ตามมาตรา 65 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ตามเอกสารหมาย ล.8 ซึ่งโทษปรับสูงสุดของความผิดดังกล่าวเป็นเงินเพียง 200,000 บาท เท่านั้น โจทก์ร่วมน่าจะยอมเสียค่าปรับจำนวนดังกล่าวได้ ดีกว่าที่จะต้องยินยอมเสียบริษัท พ. ให้แก่จำเลยที่ 1 ข้ออ้างดังกล่าวไม่สมเหตุสมผลจึงไม่อาจรับฟังได้ แต่จำเลยที่ 2 กลับเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง ตรงกันข้ามข้อเท็จจริงนี้กลับไปสอดคล้องกับคำรับของจำเลยที่ 3 ในชั้นสอบสวน ที่เขียนขึ้นด้วยลายมือของตนเองตามเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 31 โดยระบุแน่ชัดว่าการดำเนินการของจำเลยที่ 1 ที่เตรียมเอกสารต่าง ๆ ตามเอกสารหมาย จ.4 มาดำเนินการจดทะเบียนนั้น ก็เพื่อต้องการให้ได้สิทธิของบริษัท พ. ในการซื้อโครงการสนามกอล์ฟ ก. เห็นว่า จากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วม รวมถึงพฤติการณ์ดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้อย่างชัดแจ้งไม่มีพิรุธน่าสงสัยแต่อย่างใด เชื่อได้แน่ชัดว่าการที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.4 นั้น จำเลยที่ 2 รู้ดีอยู่แล้วว่าลายมือชื่อของโจทก์ร่วมและตราสำคัญของบริษัทที่ประทับลงไว้ในเอกสารนั้นเป็นลายมือชื่อและตราประทับปลอมที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันจัดทำขึ้น เพื่อต้องการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อมูลของบริษัท พ. ให้จำเลยที่ 1 ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทแต่เพียงผู้เดียว เพื่อสิทธิในการซื้อโครงการสนามกอล์ฟ ก. จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบและข้อกล่าวอ้างในฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดนั้นชอบแล้ว แต่ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันและเรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสามมานั้นยังไม่ชอบ เพราะแม้ว่าโจทก์จะบรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามต่างกรรมต่างวาระกันโดยชัดแจ้ง แต่การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ร่วมกันปลอมเอกสาร รวมทั้งร่วมกันใช้เอกสารปลอม และสำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทจำกัด กระทำหรือยินยอมให้กระทำการปลอมเอกสารหรือลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัท หรือที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 นั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องโดยมีเจตนาเดียวกัน คือเพียงเพื่อต้องการให้นายทะเบียน สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดชลบุรีจดทะเบียนแก้ไขจำนวนผู้ถือหุ้น แก้ไขจำนวนกรรมการเข้าและออก และแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท พ. จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยทั้งสามตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แม้จำเลยทั้งสามมิได้ฎีกา แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีจึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมและฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มีระวางโทษต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม จำคุกคนละ 2 ปี ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2