คดีนี้ศาลแรงงานกลางให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีหมายเลขดำที่ 5224/2540 5351/2540 5352/2540 5375/25405384/2540 และ 5385/2540 ของศาลแรงงานกลาง โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 7 แต่คดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีของโจทก์ที่ 5 เท่านั้น
โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นลูกจ้างจำเลยจำเลยมีกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานในหมวดที่ 9 สวัสดิการพนักงานเรื่อง เงินสะสม ว่า พนักงานที่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำแล้วจะต้องเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนเงินสะสมและยินยอมมอบเงินค่าแรงของตนเองให้จำเลยทุก ๆ เดือน เดือนละ 1 วัน และจำเลยจะจ่ายเงินสมทบให้อีก 100 เปอร์เซ็นต์ ของเงินสะสม สำหรับพนักงานที่มีอายุงานตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป โดยจะได้รับคืนเมื่อเกษียณอายุ หรือลาออกโดยไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ทั้งเจ็ดได้ส่งมอบเงินเข้ากองทุน ปรากฏจำนวนเงินตามที่ระบุไว้ในคำฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 และ ที่ 7 ลาออกโดยไม่ได้กระทำความผิด ส่วนโจทก์ที่ 5 จำเลยเลิกจ้างเพราะเกษียณอายุ 55 ปี แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด โจทก์ที่ 5 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ19,712 บาท มีอายุงาน 30 ปี 1 เดือน 23 วัน โจทก์ที่ 5 จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ได้แก้ไขปรับปรุงใหม่อีก คำนวณเป็นเงิน 477,030.40 บาทโจทก์ทั้งเจ็ดทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินกองทุนสะสมพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด โดยเฉพาะโจทก์ที่ 5 จำนวน 106,870.99 บาท และจ่ายค่าชดเชย 118,272 บาทกับเงินบำเหน็จจำนวน 477,030.40 บาท แก่โจทก์ที่ 5
จำเลยทั้งเจ็ดสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเคยเป็นลูกจ้างจำเลย แต่ได้ลาออกแล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดจะได้รับเงินสมทบตามกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของจำเลย จำเลยจะไม่พิจารณาจ่ายให้ก็ได้ เพราะตั้งแต่ประมาณปี 2539 ถึงวันฟ้องจำเลยประสบปัญหาการขาดทุนมาตลอด ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่าตามกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 9 สวัสดิการพนักงานเอกสารหมาย ล.1 ไม่มีกรณีที่ให้จำเลยใช้ดุลพินิจไม่พินิจไม่พิจารณาจ่ายเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างตามที่ให้การไว้ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยานจึงงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมสะสมและเงินสมทบพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย เอกสารหมาย ล.1 หมวดที่ 9 สวัสดิการพนักงานข้อ 2 เรื่องเงินสะสมพนักงาน ส่วนเงินบำเหน็จที่โจทก์ที่ 5ขอนั้น ไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ในกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยจึงให้ยกในส่วนนี้ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินกองทุนสะสมแก่โจทก์ทั้งเจ็ด พร้อมดอกเบี้ยยกเว้นโจทก์ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7โดยเฉพาะโจทก์ที่ 5 ได้รับจำนวน 106,870.99 บาท และค่าชดเชย118,272 บาท แก่โจทก์ที่ 5 ด้วย
โจทก์ที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องโจทก์ที่ 5ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเงินค่าบำเหน็จว่า ตามกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย ฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2534 หมวดที่ 9เรื่อง สวัสดิการพนักงาน และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ได้แก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามฉบับที่ได้จดทะเบียน ลงวันที่30 กันยายน 2535 เกี่ยวกับเรื่องการเกษียณอายุข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.6 ให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุและที่มีอายุการทำงานกับจำเลยติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 ปี ขึ้นไปมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามหลักเกณฑ์โดยนำค่าจ้างอัตราสุดท้ายคูณจำนวนปีของอายุงาน บวกด้วยค่าครองชีพคูณจำนวนปีของอายุงานลบด้วยเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วย 6 เดือน บวกด้วยค่าครองชีพคูณ6 เดือน และตกลงว่าจะจ่ายเงินบำเหน็จภายใน 30 วัน นับแต่วันครบเกษียนอายุ โจทก์ที่ 5 ทำงานติดต่อกันมา 30 ปี 1 เดือน23 วัน มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจำนวน 477,030.40 บาท จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธเกี่ยวกับเงินบำเหน็จที่โจทก์ที่ 5 ฟ้องเลยว่า โจทก์ที่ 5 ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จดังกล่าวเพราะเหตุใดถือได้ว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์ที่ 5 มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามฟ้องแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เงินบำเหน็จที่โจทก์ที่ 5 ขอนั้น ไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ในกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย ให้ยกในส่วนนี้ให้ยก จึงไม่ถูกต้อง โจทก์ที่ 5มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยจำนวน 477,030.40 บาท ตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ที่ 5จำนวน 477,030.40 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง